ธกส.จัดโครงการแสงสว่างสู่ชุมชนมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่เกษตรกรพื้นที่ห่างไกลความเจริญ

ธกส.จัดโครงการแสงสว่างสู่ชุมชนมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่เกษตรกรพื้นที่ห่างไกลความเจริญ

ภาพ/ข่าว:ณัฐพัชญ์ วงษ์ประเสริฐ 

            ธกส.มุ่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่เกษตรกรพื้นที่ห่างไกล แก้ไขปัญหาหนี้สินในช่วงวิกฤตโรคโควิด 19 พร้อมสร้างการรับรู้ป้องกันกลลวงเหล่ามิจฉาชีพ

              วันที่ 27 กรกฎาคม 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศุภชัย ทิพทามูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นผู้แทนนายสามารถ เอี่ยมวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย นายภัตติ ชุนทรภัทร์โภคิน ผู้จัดการ ธ.ก.ส.สาขาปราณบุรี นำพนักงาน เจ้าหน้าที่ธนาคาร ธ.ก.ส.สาขาปราณบุรี พร้อมนายเอกสิทธิ์ แช่มอ่วม พนักงานพัฒนาธุรกิจ 7 ฝ่ายสินเชื่อ ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรชาวบ้านตำบลเขาจ้าว อำเภอปราณบุรี จัดโครงการแสงสว่างสู่ชุมชน ด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมร่วมหาทางออกแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินให้กับเกษตรกรในช่วงวิกฤตโรคโควิด 19 และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ป้องกันกลุ่มวิชาชีพใช้เล่ห์กลลวงหลอกให้เสียทรัพย์ และป้องกันเจ้าหน้าที่ของธนาคารทุจริต แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวในรูปแบบต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมีนายทนงศักดิ์ รุ่งรัศมี ปลัดอาวุโสอำเภอปราณบุรี เป็นประธานแทน นายปรีดา สุขใจ นายอำเภอปราณบุรี ในพิธีเปิดโครงการ ณ ศาลาอเนกประสงค์ที่ทำการกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านกระทุ่น หมู่ 5 ตำบลเขาจ้าว อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

             โดยภายในกิจกรรมเป็นการบรรยายสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรเกี่ยวกับรูปแบบของสินเชื่อโครงการพลังงานสะอาด โครงการนำแสงสว่างสู่ชุมชน ด้วยระบบแผงโซล่าเซลล์ จากพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับกลุ่มมิจฉาชีพที่จะเข้ามาหลอกลวงเกษตรกรในรูปแบบต่างๆเพื่อการระมัดระวังตัว อีกทั้งป้องปรามไม่ให้กลุ่มเกษตรกร และเจ้าหน้าที่ของทางธนาคารสมรู้ร่วมคิดก่อทุจริต หรือเรียกรับผลประโยชน์จากเกษตรกรที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งหากเกษตรกรสงสัยหรือพบเห็นการทุจริตสามารถโทรสอบถามหรือร้องเรียนได้โดยตรงที่ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดประจวบ นายสามารถ เอี่ยมวงษ์ โทร.082-4153959 และนายศุภชัย ทิพทามูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โทร.081-7248910 โอกาสนี้ยังได้แนะนำตัวเจ้าหน้าที่ธนาคาร ธ.ก.ส. ให้เกษตรกรได้รู้จัก โดยเฉพาะ นาย เอกสิทธิ์ แชมป์อ่วม เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ ซึ่งรับผิดชอบในพื้นที่ตำบลเขาจ้าว และตำบลเขาน้อย อ.ปราณบุรี อีกด้วย นายศุภชัย ทิพทามูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางธนาคาร ธ.ก.ส.ไม่ค่อยได้ลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยียนกับลูกค้าเกษตรกร เนื่องจากปัญหาสถานการณ์โควิด19 ระบาด นอกจากนี้ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ซ้ำเติมลูกค้า อีกทั้งปัจจัยต้นทุนในการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ปีนี้ทางธนาคาร ธ.ก.ส.จึงมีนโยบายมอบสิ่งดีๆให้กับลูกค้า และทบทวนศักยภาพของลูกค้าอย่างปราณีตโดยมีการพูดคุยและช่วยหาทางออกในการผ่อนชำระหนี้ให้สามารถชำระได้ตามปกติจะได้ไม่ติดเครดิตบูโร นอกจากนี้ยังมาแจ้งเตือนให้พี่น้องเกษตรกรได้รับทราบเกี่ยวกับมิจฉาชีพและช่องทางต่างๆที่จะมาหลอกลวงพี่น้องเกษตรกร พี่น้องเกษตรกรอาจจะไม่ทันเล่ห์กลลวงของกลุ่มมิจฉาชีพ รวมถึงปัญหาการทุจริต หรือ เรียกรับผลประโยชน์ ของพนักงานที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งที่ ธ.ก.ส.อยู่ได้มาจนถึง 56 ปี นี้เพราะความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งตัวพนักงาน และธนาคาร จึงต้องลงพื้นที่มาพบปะเพื่อชี้แจงให้กับกลุ่มลูกค้าเกษตรกรรับรู้รับทราบเข้าใจ ข้อสังเกตง่ายๆหากมีการเรียกรับเงินจะไม่ใช่นโยบายของทางธนาคาร แต่คงมีแต่ค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องมีใบเสร็จชัดเจนทุกครั้ง และจะต้องไปจ่ายเงินค่าธรรมเนียมที่ธนาคารเท่านั้น และที่สำคัญในการลงพื้นที่วันนี้เนื่องจากพื้นที่ตำบลเขาจ้าวเป็นพื้นที่ห่างไกล ที่ดินของเกษตรกรไม่มีเอกสารสิทธิ์ จึงไม่มีระบบสาธารณูปโภค โดยเฉพาะไฟฟ้า ทางธนาคารจึงนำโครงการนำแสงสว่างสู่ชุมชน ด้วยระบบแผงโซล่าเซลล์ โดยการปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยราคาถูกร้อยละ 5.5 เพื่อให้เกษตรกรที่สนใจนำไปใช้ในระบบแสงสว่าง และลดต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น

               ด้านนายสามารถ เอี่ยมวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า สำหรับลูกค้าเกษตรกรท่านใดที่สนใจในโครงการนำแสงสว่างสู่ชุมชน สามารถไปติดต่อร้านค้าตัวแทนจำหน่ายแผงโซล่าเซลล์ ที่มีการชี้แจงราคาสินค้ากับทางธนาคารไว้แล้ว จากนั้นนำแบบประเมินราคาสินค้าไปติดต่อกับทางธนาคาร ธ.ก.ส. ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องผ่านหัวหน้ากลุ่ม หรือนายหน้าใดๆทั้งสิ้น เพื่อเป็นการป้องกันการรับหัวคิว หรือฮั้วราคากับร้านค้าตัวแทนจำหน่าย เมื่อลูกค้าของทางธนาคารได้รับการอนุมัติผ่านแล้ว ทางร้านค้าบริษัทผู้จำหน่ายจะมาติดตั้งระบบแผงโซล่าเซลล์ให้จนเสร็จสมบูรณ์ จากนั้นทางธนาคารจะจ่ายเงินตรงให้กับบริษัทตัวแทนจำหน่ายแผงโซล่าเซลล์เอง ลูกค้าเกษตรกรก็มีหน้าที่ผ่อนชำระตามข้อตกลงที่ได้ทำกับทางธนาคารไว้ โดยการขอกู้หากลูกค้าเกษตรกรมีหลักทรัพย์ ก็สามารถนำไปค้ำประกันขอยื่นกู้ได้ส่วนเกษตรกรที่ไม่มีหลักทรัพย์ก็สามารถรวมกลุ่ม 3 คน ค้ำกันเองวงเงินไม่เกินคนละ 200,000 บาทขึ้นอยู่กับศักยภาพของตัวลูกค้าเกษตรกร และภาระหนี้สินที่มีอยู่กับทางธนาคารไว้ก่อนหน้านี้ นายสามารถ กล่าว

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!