ปทุมธานี_ประธานSME โวย ธปท.ช่วยเจ้าสัวเร็ว แต่ช่วย SMEs ช้า

ปทุมธานี_ประธานSME โวย ธปท.ช่วยเจ้าสัวเร็ว แต่ช่วย SMEs ช้า

ภาพ/ข่าว:อนันต์    วิจิตรประชา

ประธาน SME โวย ธปท.ช่วยเจ้าสัวเร็ว แต่ช่วย SMEs ช้า

              นายธีรวงศ์ สรรค์พิพัฒน์ ประธานเครือข่ายเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ (Newgen SME) ให้ความเห็นกรณีธนาคารแห่งประเทศไทยชี้แจงว่าไม่ควรเรียก “พรก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ว่า พรก. กู้เงิน” โดยความเป็นจริงถือว่า ธปท. ได้กู้เงินมา ไม่ว่าโดยวิธีการกู้จากใน หรือต่างประเทศ หรือการเปิดขายพันธบัตรล้วนถือว่าเป็นหนี้ที่ต้องยืมมาจากเจ้าหนี้ซึ่งต้องเสียดอกเบี้ย และส่งคืนเงินต้นเมื่อถึงกำหนด อันจะถูกนำมาคิดรวมเป็นหนี้สาธารณะ ลักษณะเดียวกันกับการตราสารหนี้ที่เจ้าสัวออกขายให้สาธารณชน และกองทุนที่รู้จักกันในนาม “หุ้นกู้” ตราสารหนี้โดยหลักต่างกับการกู้เงินคือ ตราสารหนี้ (Bonds) นั้นก็ถือว่าเป็นเงินกู้ประเภทหนึ่ง เรียกว่า debt securities ผู้ถือตราสารหนี้ (ลงทุน) สามารถขายต่อบุคคลอื่นก่อนที่ตราสารจะถึงกำหนดชำระตาม maturity date ได้และเมื่อตราสารหนี้ถึงกำหนดชำระผู้ออกตราสารหนี้จะคืนเงินต้นเต็มจำนวนแต่การกู้หนี้ (Loans) นั้นผู้กู้ต้องจ่ายคืนเป็นงวดเท่าๆกัน (Annuity) ซึ่งมีองค์ประกอบในหนี้ที่เหมือนกันไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร แตกต่างกันที่เพียงวิธีการชำระหนี้เท่านั้น พรก. กู้เงิน หรือ พรก. อุ้มหุ้นกู้ นั้นอาจไม่ได้สื่อความหมายที่ผิดเพี้ยนไปจากสาระสำคัญข้อเท็จจริง และยังมีความหมายที่ชัดกว่าจะเรียกว่า “พรก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563” เพราะการอุ้มหุ้นกู้นั้นไม่ได้สำคัญไปกว่าการช่วยให้ SMEs หรือรากหญ้าเข้าถึงแหล่งเงินทุน เมื่อประชาชนมีพอกินพอใช้ ถึงควรเรียกว่าเพื่อ “เสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ” อย่างแท้จริง ธปท. ควรเลิกอธิบายสิ่งที่ไม่เป็นสาระสำคัญ และทำหน้าที่สร้างความโปร่งใสให้กับพรก.อุ้มหุ้นกู้ฉบับนี้มากกว่าจะมาสนในเรื่องของ “การเรียกชื่อ พรก. ฉบับนี้” ธปท.ควรตอบคำถามให้ชัดเจนว่าเงินของประเทศที่มีอยู่จำกัดทำไมถึงเลือกช่วยเจ้าสัวมากกว่า SMEs รากหญ้า เพราะ SMEs เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนอย่างแท้จริง และสามารถเข้าถึงได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์จากยอดหนี้คงเหลือเท่านั้น แต่เจ้าสัวสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินออกหุ้นกู้ และไม่มีภาระต้องผ่อนรายเดือน ทั้งยังสามารถผ่อนผันให้ได้เกินกว่าร้อยละห้าสิบของยอดตราสารหนี้ที่ครบกำหนดได้อีกตามมาตรา 11 (3) ถ้าให้เจ้าสัวทำการกู้ผ่านธนาคาร หรือสถาบันการเงินเองจะเร็วกว่ากระบวนการออก พรก. และขั้นตอนการอนุมัติของกองทุน BSF หรือไม่

             มาตรการกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ กำหนดว่าอายุหุ้นกู้ที่กองทุน BSF จะลงทุนไม่เกิน 270 วันนั้น แต่ตาม พรก.ฯ ฉบับนี้กองทุน BSF มีอายุ 5 ปีตามมาตรา 4 วรรคท้าย และยังสามารถขยายระยะเวลาออกไปอีกก็ได้ถ้ามีความจำเป็น ดังนั้นเพื่อความโปร่งใส ธปท. จะขยายระยะเวลาการลงทุนให้เกิน 270 วันหรือไม่ เพราะถ้าขยายก็จะไม่ตรงกับแนวคิด bridge financing และใช้เกณฑ์อะไรถ้ากรณีมี บมจ. เจ้าสัวหลายรายผ่านเงื่อนไข และมูลค่าหุ้นกู้สูงเกินกว่าเงินสี่แสนล้านบาทในช่วงแรก ในอนาคต ธปท.จะขยายวงเงินสี่แสนล้านหรือไม่
ธปท.เลือกที่จะออกพันธบัตร “เราไม่ทิ้งกัน” วงเงิน 50,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2.4-3 เปอร์เซ็นต์นั้นคือต้นทุนทางการเงินของแบงค์ชาติ เพื่อนำมาใช้ในพรก.อุ้มหุ้นกู้ 4 แสนล้านแล้วส่วนที่ขาดอีก 3.5 แสนล้านนั้น ธปท.จะหาจากวิธีการใด ถือเป็นเงินกู้ใช่หรือไม่? แล้วต้นทุนเฉลี่ยของเงินกู้จะสูงกว่าการออกพันธบัตร มีมูลค่าอยู่กี่เปอร์เซ็นต์ และเมื่อนำไปซื้อหุ้นกู้เจ้าสัวแล้วจะมีกำไร หรือขาดทุนหรือไม่ ขณะที่ถ้าปล่อยให้เจ้าสัวกู้ผ่านสถาบันทางการเงินด้วยตนเอง เจ้าสัวจะเสียดอกเบี้ยที่ MLR 5.47% แต่เมื่อกองทุน BSF เข้าซื้อหุ้นกู้เจ้าสัวที่ดอกเบี้ย 3-4.4% จะทำให้เจ้าสัวได้รับดอกเบี้ยลดลงที่ 1.07-2.47% ทันทีอาจไม่สอดคล้องกลับหลักการ last resort ที่ ธปท. กล่าวอ้าง เมื่อคำนวนเฉพาะ บมจ. ของ 2 เจ้าสัวรายใหญ่ในประเทศ ยื่นขอกองทุนล็อตแรก 5.28 หมื่นล้านบาท เงื่อนไขยื่นได้ไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ รวมยื่นของกองทุน BSF เป็น 2.64 หมื่นล้านคูณกับ1.07-2.47% หมายความว่าเจ้าสัวจะได้กำไรจากการลดลงของดอกเบี้ยระหว่าง 282 – 642 ล้านบาท/ปี นี่เป็นเพียงการยื่นขอล็อตแรกเท่านั้นจากกลุ่ม บมจ. หลักของเจ้าสัวเพียงแค่ 2 คน และในอนาคตถ้าเจ้าสัวไม่สามารถหาเงินทุนมาชำระหนี้หุ้นกู้ที่กองทุน BSF ทำการซื้อได้ จะถือว่าเป็นภาระให้กับคนไทย และลูกหลานทุกคนหรือไม่เพราะเป็นหนี้สาธารณะ
                ธปท. มีเจตนาดีที่จะล้วงเงินที่กระจุกของผู้มีเงินเก็บด้วยการออกขายพันธบัตร แต่กลับนำเงินที่เคยกระจุกตัวนี้ไปซื้อหุ้นกู้เจ้าสัว หรือ บมจ.รายใหญ่ ทำให้เงินกลับไปกระจุกตัวเหมือนเช่นเดิม ธปท. ควรหาเงินกู้จากภายนอกประเทศเพื่อมาอัดฉีดสภาพคล่องให้กับเศรษฐกิจไทยในประเทศ และปล่อยให้เงินที่กระจุกตัวในกระเป๋าของผู้มีเงินเก็บ ให้เป็นภาระเงินฝากที่สถาบันการเงินต้องแบกไว้จ่ายดอกเบี้ย จะกระตุ้นและกดดันให้สถาบันการเงินที่ไม่ต้องการแบกต้นทุนดอกเบี้ยเงินฝากด้วยการนำเงินฝากออกมาปล่อยกู้ให้ SMEs และรากหญ้าได้มากยิ่งขึ้น ยิ่งถ้า ธปท.ไม่อุ้มหุ้นกู้จะมีผลให้บรรดาเจ้าสัวต้องควักกระเป๋าเอาเงินที่เก็บไว้ออกมาชำระคืนให้ประชาชนทั่วไป เงินจะกระจายได้เป็นอย่างดีในระบบเศรษฐกิจ และ บมจ. รายใดแนวโน้มจะมีปัญหาจากวิกฤตโควิด-19 อย่างชัดเจน ธปท. ก็พิจารณาช่วยเหลือเฉพาะรายก็ยังจะไม่ช้าเกินไป ทั้งนี้ ธปท. ทราบได้อย่างไรว่าเจ้าสัวจะมีปัญหาการชำระหนี้หุ้นกู้ที่จะถึงกำหนดชำระ เพราะความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือใช้ตัวเลขอะไรมาชี้วัด ที่มีผลให้ประเทศต้องกู้เงินมาก็มีต้นทุนเกิดขึ้นก่อนแล้ว “ธปท. ช่วยเจ้าสัวเร็วเกินไป ช่วย SMEs ช้าเกินไป” ควรต้องปรับการถอย และรุกให้สอดรับจังหวะมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้เศรษฐกิจวิกฤตของไทยในขณะนี้ ไม่ใช่เพิ่งแสดงอาการ แต่มีอาการอย่างต่อเนื่องมานานหลายปี ทั้งปัจจัยทางการเมือง ดอกเบี้ย และค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นเป็นประวัติการณ์ การแก้ปัญหาที่อาจช้าเกินไป การลดดอกเบี้ยนโยบายที่ช้าเกินไปล้วนมีส่วนให้เศรษฐกิจไทยเดินมาถึงจุดนี้ จุดที่การลดดอกเบี้ยไม่มีผลต่อการ Investment อย่างมีนัยยะ ดอกเบี้ยนโยบาย (Policy rate) ที่เหมือนเป็นเพียงแค่นโยบายไม่ effective อย่างทันการ และไม่มีผลต่อดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ค่าปรับทวงถามยังคงเฉลี่ยรวม 15-30 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นเหมือน “การประหาร” ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระ เพียงชำระปกติที่ดอกเบี้ย 5-6 เปอร์เซ็นต์ยังไม่สามารถชำระ แล้วจะชำระดอกเบี้ย 30 เปอร์เซ็นต์ได้อย่างไร คงมีธุรกิจไม่กี่ประเภทที่จะทำกำไรเพียงพอการจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดที่ไร้ความปราณีนี้ได้ ธปท. ควรแก้ไขเรื่องอัตราดอกเบี้ยผิดนัดทั้งในบัตรเครดิตสินเชื่อส่วนบุคคล และวงเงินกู้อื่นทุกประเภท เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับลูกหนี้ที่แทบจะไม่มีโอกาสต่อรอง เจ้าหนี้นายทุนที่เหมือนฉลามแต่ทำตัวเป็นเหาดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบเศรษฐกิจทำให้เกิดปัญหาการกระจายรายได้จากอัตราความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่สูงขึ้นจนติดอันดับ 1 ของโลกในปี 2018 โดยคนรวยที่สุดของประเทศคิดเป็นเพียงจำนวนประชากรแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับสามารถครอบครองทรัพย์สินได้ถึง 66.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่คนจนที่สุดของประเทศจำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรครอบครองทรัพย์สินได้เพียงแค่ 1.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ธปท. ควรมีนโยบายเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้
สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!