
สุพรรณบุรี-ยุติธรรมจัดมหกรรมแก้หนี้สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรมปีที่ 2
ภาพ-ข่าว:มงคล/รัตนา/พงศกร สว่างศรี
นายยู่สิน จินตภากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ปีที่ 2 จังหวัดสุพรรณบุรี ระหว่างวันที่ 7-8 เมษายน 2568 ณ วิทยาลัยนาฎศิลปสุพรรณบุรี ตำบลสนามชัย อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมีนางอภิญญา เอี่ยมอำภา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวต้อนรับ และนางสาวเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวรายงาน จากสถานการณ์ภาวะหนี้ของประเทศไทย กระทรวงยุติธรรม ได้รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี ดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงิน และไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน
โดยผู้เข้าร่วมงานจะได้รับประโยชน์ในกรณีก่อนฟ้อง คือ การผ่อนผันการชำระหนี้ ลดเบี้ยปรับลดดอกเบี้ย ลดค่างวดรายเดือนงดฟ้องดำเนินคดี และรับเงื่อนไขปลดผู้ค้ำประกัน สำหรับในส่วนของชั้นบังคับคดี หรือหลังคำพิพากษา ประโยชน์ที่จะได้รับคือการขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ ลดเบี้ยปรับ ลดจำนวนเงินผ่อนชำระหนี้ งดยึดทรัพย์ งดขายทอดตลาด ลูกหนี้จะไม่ถูกบังคับคดี และยังมีสิทธิประโยชน์อื่นๆ
สำหรับการจัดงานในจังหวัดสุพรรณบุรี กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี สำนักงานยุติธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมบูรณาการ กับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ได้เชิญชวนลูกหนี้เข้าร่วมงานทั้ง 2 วัน จำนวนกว่า 4,715 ราย ทุนทรัพย์รวม 243 ล้านบาท โดยสถาบันการเงิน และธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมจัดการไกล่เกลี่ย และปรับโครงสร้างหนี้ ประกอบด้วย กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.), กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กรมการพัฒนาชุมชน, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จำกัด, บริษัทเจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิชเซ็ส จำกัด (มหาชน), บริษัทบริหารสินทรัพย์เจ จำกัด และบริษัทบริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด
ในปัจจุบันจังหวัดสุพรรณบุรี เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลัก มุ่งเน้นให้อำเภอใช้กลไกการไกล่เกลี่ย และประนอมข้อพิพาททางแพ่งตามพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 61/1 และมาตรา 61/2 และพระราชกฤษฎีกากำหนดทุนทรัพย์ในการไกล่เกลี่ย และประนอมข้อพิพาท ทางแพ่งอื่น พ.ศ. 2565 และยังคงร่วมกันแก้ปัญหาให้ กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการขับเคลื่อนโครงการ มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม ปีที่ 2 มีรูปแบบการดำเนินงาน ดังนี้ (1) การจัดงานรูปแบบ Events โดยการบูรณาการร่วมกันระหว่าง กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เช่น รูปแบบการจัดงานวันนี้ ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ (2) การจัดกิจกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ตามบริบทของพื้นที่ โดยสำนักงานยุติธรรมจังหวัด สำนักงานบังคับคดีจังหวัด และภาคีในพื้นที่ (3) การจัดการไกล่เกลี่ยหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ ผ่านระบบออนไลน์ โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ดำเนินการไกลเกลี่ยข้อพิพาท อีกทั้งต้องเกิดจากความสมัครใจ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย สร้างการตระหนักรู้ และเข้าใจ เพื่อเลือกใช้การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ในการยุติข้อพิพาททางแพ่ง และข้อพิพาททางอาญาตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทพ.ศ. 2562 ประกอบด้วย การไกล่เกลี่ยหนี้สินก่อนฟ้อง ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 และหลังศาลมีคำพิพากษา ตามระเบียบกรมบังคับคดี ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2558 เพื่อให้ประชาชนที่เป็นหนี้ ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อ ลิสซิ่ง ที่ผิดนัดชำระหนี้เข้าเกณฑ์ฟ้อง หรือไม่มีกำลังผ่อนชำระตามสัญญา เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการวางแผน และสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชน เป็นเกราะป้องกันปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนต่อไป