อุทัยธานี-จัดงานบุญใหญ่ “ตักบาตรปลายรวงข้าว สานสายใย ชาวไทยมอญ”

อุทัยธานี-จัดงานบุญใหญ่ “ตักบาตรปลายรวงข้าว สานสายใย ชาวไทยมอญ”

ภาพ-ข่าว:วราภรณ์ จันทรังษ์ 

             พี่น้องชาวไทยเชื้อสายมอญ ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ในพื้นที่อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี และนักท่องเที่ยว พร้อมใจนุ่งโสร่ง-ห่มสไบ-ใส่เสื้อขาวตาหมากรุก ร่วมงานบุญใหญ่ “ตักบาตรปลายรวงข้าว สานสายใย ชาวไทยมอญ” กลางทุ่งออกญานาอำแดง ถวายเป็นพระราชกุศลในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ 5 ธันวาคม 2567
            ที่จังหวัดอุทัยธานี  วันนี้ ( 5 ธ.ค. ) เวลา 07.30 น.บรรยากาศบริเวณ “ทุ่งออกญา นาอำแดง” ตำบลหนองฉาง อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี แหล่งเรียนรู้การทำนาเพาะปลูกข้าวอินทรีย์ และแลนด์มาร์กจุดเช็คอินและร้านคาเฟ่ สถานที่ท่องเที่ยวของอุทัยธานี เต็มไปด้วยศรัทธาสาธุชนชาวไทยเชื้อสายมอญ ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว ที่พร้อมใจกันสวมชุดที่เป็นเอกลักษณ์ของ “คนมอญ” เข้าร่วมพิธี “ตักบาตรปลายรวงข้าว สานสายใย ชาวไทยมอญ” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9
           เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 5 ธันวาคม 2567 และน้อมรำลึกที่พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพระสกนิกรชาวไทยมาตลอดพระชนชีพ โดยว่าที่ร้อยตรี ชยพลอัคร จิรากุล นายอำเภอหนองฉาง ได้เป็นประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์ 9 รูปเจริญพระพุทธมนต์ ก่อนพี่น้องชาวไทยเชื้อสายมอญจะต่อแถวทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งแด่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 19 รูป บนสะพานชมทุ่งทอดยาว ที่เป็นการจำลองบรรยากาศการตักบาตรคล้ายกับการตักบาตรบนสะพานมอญ (สะพานอุตตมานุสรณ์) จังหวัดกาญจนบุรี
          ทั้งนี้ ชาวอำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี หลายตำบล เป็นชาวไทยเชื้อสายมอญซึ่งอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่มาเป็นเวลาช้านาน โดยครั้งนี้ผู้ร่วมงานที่เป็นชาวไทยเชื้อสายมอญ ตัวแทนส่วนราชการต่างๆ ได้ร่วมกันแต่งชุดพื้นถิ่น-หญิงคล้องผ้าสไบ ชายนุ่งโสร่งหลากสี เสื้อขาวลายแดงตาหมากรุก ผ้าพาดไหล่ นอกจากร่วมพิธีตักบาตรเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 5 ธันวาคม 2567 แล้ว  ยังได้แสดงออกถึงความร่วมมือและความสามัคคีกันในชุมชน
          โดยจะมีการนำข้าวสารอาหารแห้งที่ตักบาตรในครั้งนี้ไปบริจาคเป็นทานแก่ผู้ยากไร้ด้วย ส่วนกิจกรรม “ตักบาตรปลายรวงข้าว สานสายใย ชาวไทยมอญ” ที่จัดขึ้นเป็นการย้อนวิถีชาวมอญแบบนี้ นับเป็นการจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคประชาชนพื้นถิ่นได้เห็นพ้องตรงกันว่าจะยึดถือเป็นประเพณีที่จะทำสืบต่อกันไปในทุกๆ ปี อีกด้วย

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!