“ดร.เฉลิมชัย”ประกาศเร่งเครื่องกฎหมายลดโลกร้อน
ภาพ-ข่าว:พิสิษฐ์ รื่นเกษม
“อลงกรณ์”ชี้เศรษฐกิจคาร์บอนคือทางรอดประเทศสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำหวังธนาคารโลกเปิดทางลงทุนโครงการยั่งยืน 632 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดเวทีเสวนา “เดโมแครต ฟอรั่ม” ครั้งที่ 1 หัวข้อ “เศรษฐกิจคาร์บอน โอกาสในวิกฤตโลกรวน น้ำท่วม-ภัยแล้ง สุดขั้ว” โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน อย่างคึกคัก
ดร. เฉลิมชัย กล่าวว่า ประเทศไทยวันนี้ ถือว่าเป็นช่วงที่ประสบปัญหาชัดเจนที่สุด จากสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างปัจจุบันทันด่วน บวกกับการทำลายสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงดังที่ปรากฏ วันนี้ประเทศไทยมีประชากร 70 ล้านคน ต่อให้ นักวิชาการ ภาครัฐ หรือทุกภาคส่วน ทุ่มเทสรรพกำลังลงไป ก็ไม่เท่ากับความร่วมมือของประชาชนทั้งประเทศ วันนี้จะมองว่าเศรษฐกิจนำโลกเพียงอย่างเดียวไม่พอ เพราะคนหนึ่งคนจะมีชีวิตอยู่ได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ได้เพราะสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว ซึ่งกำลังวนมาเป็นภัยที่เกิดกับตัวมนุษย์เอง ดังนั้นเราจะต้องให้ประชาชนตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญอยู่ เราถึงจะขับเคลื่อนเรื่องที่จะนำเสนอวันนี้ได้สำเร็จ
“เราชนะธรรมชาติได้บางอย่าง แต่เราไม่สามารถกำหนดธรรมชาติได้ทุกอย่าง เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับความเป็นจริง ว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้คือการเปลี่ยนแปลงและต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากการกระทำของมนุษย์ด้วย” ดร.เฉลิมชัย กล่าวย้ำและว่า วันที่ตนขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวกับกรรมการบริหารพรรค ว่าเราต้องเปลี่ยนมุมมองของโลก หลายคนมองว่าการบริหารต้องมีมือดีทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน แต่ตนมองว่าสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนอาศัยอยู่ เพราะอย่างไรเราก็ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นการจัด “เดโมแครต ฟอรั่ม”วันนี้ จึงเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นนับหนึ่งที่ดีที่สุด เป็นการนับหนึ่งในการจูงมือพี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
ดร.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า พรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะให้การสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติหลายฉบับ ที่จะเข้าไปดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชน อาทิ พ.ร.บ.อากาศสะอาด พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่อยู่ในการพิจารณา และอยู่ระหว่างการรอเข้าสู่การพิจารณาของสภา พรรคประชาธิปัตย์จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ และเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายเหล่านี้ด้วย สำหรับการจัดงานวันนี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนทั้งในประเทศและทั้งโลก จะเป็นตัวบ่งชี้ให้นานาชาติได้เห็นว่าประเทศไทยเรามีการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง และหากมีการจัดเวทีอื่นๆเกี่ยวกับเรื่องนี้พรรคประชาธิปัตย์พร้อมที่จะเข้าร่วม และในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้ดีที่สุด และจะทำอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับภาคประชาชนให้มากที่สุด
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะประธานจัดงานเดโมแครต ฟอรั่มกล่าวว่า ธนาคารโลกเรียกร้องให้ประเทศไทยเร่งการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจที่มีคาร์บอนต่ำ โดยชี้ให้เห็นว่ามีโอกาสในการลงทุนที่ยั่งยืนถึงประมาณ 632 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (23 ล้านล้านบาท)จึงเป็นโอกาสในวิกฤติโลกเดือดโลกรวนน้ำท่วมภัยแล้งสุดขั้วที่จะเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอน (Carbon Economy) หมายถึงระบบเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการบริโภคสินค้าหรือบริการที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจนี้มักรวมถึงภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง พลังงาน และเกษตรกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
การบริหารจัดการเศรษฐกิจคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพมักมุ่งเน้นไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การนำพลังงานหมุนเวียนเช่นพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวลและbiofuel(เอทานอลและไบโอดีเซล มาใช้แทนเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงการจัดการก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยออกมาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilisation and Storage: CCUS)
นอกจากนี้ แนวคิดเศรษฐกิจคาร์บอนยังรวมถึงการกำหนด “ราคาคาร์บอน” หรือการสร้างตลาดซื้อขายคาร์บอน (Carbon Trading)
โดยมีอาชีพใหม่ที่เกิดจากเศรษฐกิจคาร์บอนมีหลายประเภทที่น่าสนใจและมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต ดังนี้
1. นักวิเคราะห์คาร์บอน (Carbon Analyst)
2. วิศวกรพลังงานทดแทน (Renewable Energy Engineer)
3. ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน (Sustainability Consultant)
4. นักวิจัยด้านเทคโนโลยีการเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Technologist)
5. นักวางแผนเมืองสู่ความยั่งยืน (Sustainable Urban Planner)
6. นักพัฒนาโครงการประหยัดพลังงาน (Energy Efficiency Project Developer)
7. ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะ (Waste Management Specialist)
อาชีพเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะสร้างงานใหม่ แต่ยังช่วยในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในอนาคตได้อีกด้วย
นอกจากนี้ในภาคเกษตรกรรม จะมีอาชีพใหม่เกิดขึ้นเช่น 1. เกษตรกรอินทรีย์ (Organic Farmer)ผู้ปลูกพืชและผลผลิตเกษตรที่ไม่มีการใช้สารเคมี ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง 2. นักเทคโนโลยีการเกษตร (Agri-Tech Specialist)ผู้พัฒนาและนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ระบบการให้น้ำอัจฉริยะและการใช้โดรนในเกษตรกรรม 3. ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการดิน (Soil Management Specialist)ผู้ที่วิจัยและพัฒนาวิธีการเพิ่มความเป็นกรดและความอุดมสมบูรณ์ของดินเพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี 4. นักวิทยาศาสตร์ด้านพืช (Plant Scientist)ผู้พัฒนาพันธุ์พืชที่ต้านทานต่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น พืชที่ใช้น้ำต่ำหรือต้านทานโรค 5. ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูดิน (Soil Restoration Specialist)ผู้ที่ทำงานในการฟื้นฟูพื้นที่เกษตรที่เสื่อมโทรมหรือเสียหาย เพื่อให้มีความอุดมสมบูรณ์กลับคืน
6. เกษตรกรชุมชน (Community Agrarian)ผู้ที่ทำงานร่วมกับชุมชนในการเกษตรที่ยั่งยืน โดยพัฒนารูปแบบการเกษตรที่ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ 7. ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรแนวตั้ง (Vertical Farming Specialist)ผู้พัฒนาและออกแบบฟาร์มแนวตั้งเพื่อเพิ่มผลผลิตในพื้นที่จำกัด ลดการใช้ที่ดินและทรัพยากร 8. นักวิเคราะห์การปลูกพืชตามฤดูกาล (Seasonal Crop Analyst)ผู้ที่ทำการวิเคราะห์และแนะนำพืชที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในแต่ละฤดู รวมถึงการปรับเทคนิคเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
อาชีพเหล่านี้มีความสำคัญในการพัฒนาเกษตรกรกรรมยั่งยืน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสนับสนุนเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีตัวอย่างโครงการที่ขับเคลื่อนแล้วเช่น โครงการข้าวรักษ์โลก-ข้าวโลว์คาร์บอน โครงการปลูกป่าโกงกางและสาหร่ายทะเลหรือBlue Carbon Project เป็นต้น
สำหรับประโยชน์ของเศรษฐกิจคาร์บอนช่วยให้เกิดการสร้างงานในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่มุ่งเน้นความยั่งยืน การลดต้นทุนพลังงานในระยะยาว การปรับปรุงสุขภาพของประชาชนโดยลดมลพิษและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ดังนั้นเศรษฐกิจคาร์บอนจึงไม่ใช่เป็นทางเลือกแต่เป็นทางรอดของการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตตอบโจทย์โลกรวนเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม.
พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดงาน“เดโมแครต ฟอรั่ม (Democrat Forum) ครั้งที่ 1” หัวข้อ“เศรษฐกิจคาร์บอน: โอกาสในวิกฤตโลกรวนน้ำท่วมภัยแล้งสุดขั้ว“
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมนี้ที่พรรคประชาธิปัตย์ มี ดร.เจน รัตนเพียร โฆษกพรรคเป็นพิธีกรและมีวิทยากรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคเกษตรกรและภาคประชาชน เข้าร่วมเสวนาได้แก่ 1. ดร.สวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ ตัวแทนประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กรรมการสถาบันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ สอท. 2. นายประวิทย์ ประกฤตศรี รองประธาน หอการค้าไทย 3 .ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล บรรณาธิการ Green Innovation 4. นายสานิตย์ จิตต์นุพงศ์ ที่ปรึกษาอธิบดีกรมการข้าวและผู้ริเริ่มโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model 5. ดร.ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รักษาการผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(TGO) 6. ศจดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำเสนอ “บทเรียนในต่างประเทศสู่การแก้ปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทย“
โดยมี สส.ร่มธรรม ขำนุรักษ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ(moderator)
มีนายนริศ ขำนุรักษ์ นายสุธรรม ระหงส์ นายนราพัฒน์ แก้วทอง นายอภิชาติ ศักดิ์เศรษฐ รองหัวหน้าพรรค เป็นคณะที่ปรึกษา นางสาวอาภรณ์ รองเงินและนายพลีธรรม ตรียะเกษม เป็นผู้ประสานงาน โดยมีการถ่ายทอดสดทางเพจพรรคประชาธิปัตย์