กาฬสินธุ์-“พิเชษฐ” ลงพื้นที่ถกสารพัดปัญหา..อึ้ง..!!ก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร 545 ล้าน ตั้งแต่ปี 62 ไม่เสร็จ
ภาพ-ข่าว:ทีมข่าวจังหวัดกาฬสินธุ์
ขณะที่ผู้บริหารท้องถิ่นปูด งบอุดหนุดกระจุกตัวเขตเลือกตั้งที่ 4 เขตเดียวอู้ฟู่ 136 ล้านบาทส่วนที่อื่นไม่ถึง 10 ล้าน ลั่นเชิญ อธิบดีกรมส่งเสริมฯ แจง 11 ต.ค.นี้
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ลุยปัญหา 7 ชั่วโคตร รับปากคนกาฬสินธุ์ จะติดตามเรื่องให้ถึงที่สุด ย้ำให้เชื่อมือ 4 องค์กรอิสระที่กำลังตรวจสอบ ขณะที่ ผู้บริหารท้องถิ่นตบเท้าร้องทุกข์งบประมาณอุดหนุดเฉพาะกิจ ปี 2568 กระจุกเขตเลือกตั้งเดียว 136 ล้านบาท ขณะในเขตอื่นได้เพียงเขตละไม่ถึง 10 ล้านบาท เดินหน้ายื่นหนังสือสอบจริยธรรมและธรรมาภิบาล อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่เสนองบ ด้าน “พิเชษฐ์” พร้อมเปิดโต๊ะเรียกทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถกด่วนแก้ปัญหาวันที่ 11 ตุลาคมนี้
กรณีปัญหางานก่อสร้างโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจังหวัดกาฬสินธุ์ งบประมาณ 545 ล้านบาท เป็นโครงการของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย จัดสรรให้ชาวกาฬสินธุ์ มีเป้าหมายบรรเทาและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมครอบคลุม 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.ฆ้องชัย และ อ.กมลาไสย รวม 8 โครงการใหญ่ ตั้งแต่ปี 2562 ปรากฏคู่สัญญาเป็น “ผู้รับจ้าง” 2 รายใหญ่ หจก.ประชาพัฒน์ กับ หจก.เฮงนำกิจ ก่อสร้างทำงานยืดเยื้อ ทิ้งงาน ถึงปี 2567 ไม่สามารถก่อสร้างแล้วเสร็จแม้แต่โครงการเดียว
ทั้งที่ผ่านมาในแต่ละโครงการที่หมดสัญญา “ผู้รับจ้าง” ยังได้รับสิทธิพิเศษจากกรมโยธาธิการและผังเมือง – กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ใช้ ว.1459 ยกเว้นงานค่าปรับเป็นศูนย์ไม่ต้องจ่ายค่าปรับให้ “ผู้ว่าจ้าง” แม้แต่บาทเดียว และยังได้รับเงินแอดวานซ์ 15% ทั้ง 8 โครงการ แต่ผู้รับจ้าง 2 รายนี้กลับทิ้งงาน ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่สัญจรไปมา ผวากับอุทกภัยที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ชุมชนเมืองเศรษฐกิจพังเสียหาย ยังกระทบต่อความเป็นอยู่ในสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นภัยต่อความมั่นคงจนถูกชาวบ้านประฌามว่า “โครงการ 7 ชั่วโคตร”
แม้ล่าสุด กรมโยธาธิการและผังเมือง จะยกเลิกสัญญาทั้ง 8 โครงการไปแล้วและกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับปัญหา 7 ชั่วโคตรพิจารณาเป็นคดีพิเศษจากผลงานของ กมธ.ติดตามงบประมาณฯ – กมธ.ปปช.ฯ ยังพบความล่าช้าในกระบวนการตรวจสอบก็ยังไม่ชัดเจน เพราะจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการแถลงผลความคืบหน้าในการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ควบคุมงานและตรวจรับงานคู่สัญญา เนื่องจากเชื่อว่าการเบิกจ่ายไม่คุ้มกับเม็ดงานเบิกจ่าย ที่สูงถึง 250 ล้านบาท จึงมีการเรียกร้องให้ ปปท.-ปปช.-สตง.-ดีเอสไอ ไปแล้วหลายครั้งให้รีบดำเนินการแถลงผลการตรวจสอบ เพราะเกรงว่าเงินที่เบิกไปแล้วนั้นจะสูญเปล่าและไม่มีใครที่จะต้องรับผิดจากพฤติกรรมนี้
ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่จ.กาฬสินธุ์ ตั้งแต่ช่วงเช้า เวลา 09.30 น.ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 พร้อม นายประเสริฐ บุญเรือง พรรคเพื่อไทย เขต 6 จ.กาฬสินธุ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ พรรคเพื่อไทย เขต 1 จ.กาฬสินธุ์ นายทินพล ศรีธเรศ พรรคเพื่อไทย เขต 5 จ.กาฬสินธุ์ นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง พรรคภูมิใจไทย จ.กระบี่ และคณะลงพื้นที่ปฏิบัติราชการรับฟังปัญหาความเดือดร้อนและรับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชน จ.กาฬสินธุ์ มีนางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อม สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้บริหารองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง เทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำรวจ และความต้องของประชาชนในพื้นที่กว่า 100 คน โดยมีเครือข่ายภาคประชาสังคม ธรรมาภิบาลจังหวัดกาฬสินธุ์ เครือข่าย ปปท.จังหวัดกาฬสินธุ์ ประชาชน ให้การต้อนรับและรายงานปัญหาในพื้นที่
การรายงานปัญหา นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 18 อำเภอ ได้สลับกันอภิปรายปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชน ในเรื่องปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย โดยเฉพาะปัญหาการพิจารณางบอุดหนุนเฉพาะกิจในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ผ่าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพบว่า กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้จัดสรรลงประมาณลงพื้นที่กระจุกตัว ในเขตเลือกตั้งที่ 4 ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มากถึง 136 ล้านบาท ขณะที่ในเขตอำเภออื่นได้รับการจัดสรรเฉลี่ยงบประมาณไม่ถึง 10 ล้านบาท ทำให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น“อบต.” ไม่สามารถที่จะดำเนินการได้และเชื่อว่าเป็นการกระจุกงบประมาณไว้ในพื้นที่เดียวเท่านั้น
ขณะที่นายธนกฤต ระวาดชัย นายกเทศมนตรีตำบลเจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนเป็นตัวแทนของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดกาฬสินธุ์ ปัญหาการจัดสรรงบประมาณงบอุดหนุนเฉพาะกิจปี 2568 ครั้งถือเป็นการจัดสรรงบประมาณที่แย่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีธรรมาภิบาล เพราะงบส่วนใหญ่ไปกองอยู่ในพื้นที่ เขตเลือกตั้งที่ 4 เป็นของ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย มากถึง 136 ล้านบาท ในขณะที่อำเภออื่นหรือที่อื่น ได้รับการจัดสรรรวมไม่ถึงเขตละ 10 ล้านบาท ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นไม่สามารถที่จะทำการก่อสร้างได้เลยอีกจึงต้องการให้ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 นำปัญหานี้ไปพิจารณาเป็นการเร่งด่วนเพราะเชื่อว่าการจัดสรรงบประมาณไม่มีความเป็นธรรมขาดหลักธรรมาภิบาล ที่ตนจะเป็นคนร้องเรียนในเรื่องจริยะธรรมต่ออธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้พิจารณางบประมาณทุกคน
ขณะที่ภาคประชาสังคมจังหวัดกาฬสินธุ์ นายเอกกฤษ สตาเขต ส.อบจ.เขต 1 จ.กาฬสินธุ์ ได้อภิปรายปัญหา 7 ชั่วโคตร พร้อมกับยื่นหนังสือร้องเรียนและแจ้งปัญหาความเดือดร้อน ต่องานก่อสร้างของ กรมโยธาธิการและผังเมืองกาฬสินธุ์ ในโครงการก่อสร้างเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม 8 โครงการ งบประมาณ 545 ล้านบาท หรือโครงการ 7 ชั่วโคตร ว่าโครงการนี้ได้สร้างผลกระทบอย่างแสนสาหัสให้กับประชาชนคนกาฬสินธุ์ และทุกโครงการผู้รับจ้างไม่มีความสามารถก่อสร้างเสร็จแม้แต่โครงการเดียว ขณะที่มีการแอดวานซ์เงิน 15% เพื่อใช้ในการก่อสร้าง อีกทั้งยังมีการเบิกจ่ายเงินไปแล้วรวมกว่า 250 ล้านบาท
โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เป็นโครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำฯ งบประมาณ 148 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2562 ได้กระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในชุมชนเมือง เศรษฐกิจชุมชนพังเสียหาย ถึงแม้จะถูกยกเลิกสัญญาไปแล้วทั้งหมด ผู้รับจ้างตกเป็นผู้รับเหมาทิ้งงาน แต่พบว่าการตรวจสอบโดย 4 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย ปปช.- ปปง.- สตง. – ดีเอสไอ ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน เพราะชาวบ้านได้ร้องเรียนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นมา จนเกรงว่าจะมีการช่วยเหลือเอื้อประโยชน์เนื่องจากผู้รับจ้าง 2 รายนี้ มีเส้นสายทางการเมืองใหญ่โตในกระทรวงมหาดไทย และในกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ที่หากปล่อยไว้จะทำให้ภาษีของประชาชนได้รับความเสียหาย รวมถึงเจ้าหน้าที่ตรวจรับงานและควบคุมงานก็ยังไม่ถูกตรวจสอบที่ชัดเจนจึงได้เข้ามา
หลังจากรับหนังสือ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ได้ลงพื้นที่ไปดูข้อเท็จจริง ยังจุดงานก่อสร้างในเขตเทศบาล โดยเฉพะบริเวณถนนที่ก่อสร้างใกล้กับศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ ถนนผังเมือง 2 เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ก็พบสภาพปรากฏตามที่ร้องเรียนมา ท่อระบายน้ำถูกเปิดทิ้งเอาไว้และไม่มีการเชื่อมต่อท่อระบายน้ำทุกครั้งที่เกิดฝนตกน้ำไม่มีทางระบายก็ยังได้ไหลเข้าท่วมชุมชน ที่สร้างความหดหู่ใจ ต่อ นายพิเชษฐ์ เป็นอย่างมาก ที่ไม่เชื่อว่าผลงานก่อสร้างจะสร้างผลกระทบให้กับประชาชนเป็นอย่างไม่น่าตกใจ ทั้งนี้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวที่เห็นขบวนถึงมาได้ออกมาพูดคุยถึงปัญหาการก่อสร้างที่ยังกระทบต่อความเป็นอยู่ทำให้เกิดอุบัติเหตุอีกด้วย
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กล่าวว่า การรับฟังปัญหาในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ยังมีปัญหาในเรื่องที่ดินทำกิน ปัญหาความยากจน ซึ่งได้รับฟังจากตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้าว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงปัญหางบอุดหนุนเฉพาะกิจที่พบว่าไปลงกระจุกอยู่ในจุดๆเดียวที่มากจนน่าตกใจนั้น ตนได้นัดที่จะมีการประชุมร่วมกับผู้บริหารท้องถิ่นกันในวันที่ 11 ตุลาคมนี้ ที่อาคารรัฐสภาจะได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารับฟังปัญหาทั้งหมด ส่วนปัญหางานก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร ทราบว่าขณะนี้เรื่องทั้งหมดได้เข้าสู่ กมธ.ปปช.-กมธ.ติดตามงบประมาณฯ เป็นที่เรียบร้อยและทราบว่าเรื่องนี้ได้เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาการติดตามของ ปปช.-ปปง.-สตง.-ดีเอสไอ ติดตามเอาผิดกับคู่สัญญาแล้ว ที่ตนก็จะนำปัญหานี้ไปติดตามว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง หรือ กรมบัญชีกลาง ได้ดำเนินการไปถึงขั้นตอนไหน จะมีการก่อสร้างใหม่ได้อย่างไร รวมถึงขั้นตอนการเรียกเงินคืนทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร ยืนยันว่าจะติดตามเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด
รายงานแจ้งว่า ปัญหางานก่อสร้าง 7 ชั่วโคตร ทีมข่าวได้ลงพื้นที่ติดตามสภาพหน้างานทั้ง 8 โครงการ ที่แบ่งแยกผู้รับจ้าง 2 ราย คือ หจก.ประชาพัฒน์ และ หจก.เฮงนำกิจ พบว่า หจก.ประชาพัฒน์ ได้งาน 2 โครงการ คือโครงการป้องกันน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ และโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งหน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ขณะที่ หจก.เฮงนำกิจ ได้งาน 6 โครงการ คือโครงการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งแก่งดอนกลาง เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์, โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งซอยน้ำทิพย์ เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์, โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งลำน้ำพาน ต.ลำพาน อ.เมืองกาฬสินธุ์, โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำชี วัดลำชีวนาราม ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย, โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งบ้านหนองหวาย-หนองคล้า ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย และเขื่อนป้องกันตลิ่งวัดใหม่สามัคคี ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย
สภาพหน้างานไม่เหลือร่องรอยการก่อสร้างโดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นการก่อสร้างตลิ่งทั้งลำน้ำพาน และลำน้ำชี เนื่องจากปริมาณน้ำได้ท่วมพื้นที่ก่อสร้างไปจนหมด ทิ้งเอาไว้ให้ชาวบ้านหวาดผวาว่าหากเกิดน้ำหลากเข้ามามากกว่านี้จะทำให้ตลิ่งแตกเกิดน้ำท่วม ไร่ นา บ้านเรือนประชาชนเหมือนกับที่เคยท่วมใหญ่มาหลายครั้ง ขณะที่เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ บ่อชั้นวางท่อก็ยังถูกทิ้งไว้เช่นเดิมไม่ได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นเท่าที่ควร ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจึงเฝ้าติดตามว่าภายใต้รัฐบาลของ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะสามารถสางปัญหานี้ให้กับชาวกาฬสินธุ์ได้หรือไม่