การรุกคืบของ”ขบวนการแบ่งแยกดินแดน”

การรุกคืบของ”ขบวนการแบ่งแยกดินแดน”

ภาพ-ข่าว:นายหัวไทร

              น่าสนใจยิ่งว่าวันนี้ “การแบ่งแยกดินแดน” ที่มีมายาวนานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการสู้รบสูญเสียชีวิต เลือดเนื้อ งบประมาณไปจำนวนมหาศาล และดูเหมือนฝ่ายความมั่นคงจะมั่นใจว่า สถานการณ์ดีขึ้น แต่ “การแบ่งแยกดินแดน” กลับมาเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันในมหาวิทยาลัยอย่างเปิดเผย โดยนักวิชา การ นักศึกษา และนักการเมือง มีการจัดเสวนากันที่มหาวิทยาลัยสงขลานครนครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

             องค์กรที่จัดชื่อว่า ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ หรือ เปลาจาร์ บังซา (Pelajar Bangsa) นำโดย นายอิรฟาน อูมา ดำรงตำแหน่งประธานขบวนนักศึกษาแห่งชาติ และเป็นการจัดขึ้ตในวันสถาปนาองค์กรนี้ ในงานมีการแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” โดย รศ.ดร.มารค ตามไท อาจารย์สาขาการสร้างสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่

              “มารค” บอกว่า “การกำหนดอนาคตตนเอง” (Self-Determination) เป็นหลักการสำคัญของกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองซึ่งเป็นพื้นฐานการพัฒนาประชาธิปไตย” เสร็จแล้วเป็นการเสวนาหัวข้อ “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” จะพบว่า การเสวนาเน้นใช้คำว่า “สันติภาพ” ซึ่งผิดไปจากสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เน้นใช้คำว่า “สันติสุข” ซึ่งสันติสุข จะลึกซึ้งกว่า สันติภาพ เพราะสันติภาพ ก็แค่ให้เกิดความสงบ ไม่มีการสู้รบ แต่สันติสุข ต้องเกิดขึ้นหลังเกิดสันติภาพแล้ว

              ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ว่าที่ ส.ส.ปัตตานี รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ  นายฮากิม พงตีกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มเดอะปาตานี (The Patani) 3 คนนี้เป็นผู้เข้าร่วมในการเสวนาในครั้งนี้ด้วย ในขณะที่นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล งดร่วมงานกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งๆที่เคยยืนยันเข้าร่วมก่อนหน้านี้แล้ว ไปดูว่าผู้ร่วมเสวนาคิดอย่างไร

               “ฮากิม พงตีกอ” มองว่า สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง หรือ RSD (Right to Self-determination) เป็นสิทธิเสรีภาพในการที่จะเลือกมาเป็นหลักการการดำเนินประเด็นทางการเมือง

             “อาเต็ฟ โซ๊ะโก” ชี้ว่า เมื่อเราถือหลักที่สอดคล้องกับ RSD เป็นกระบวนการที่ยอมรับตามหลักสากล นำไปสู่การประชามติ ซึ่งไม่ว่าผลของการประชามติจะออกมาอย่างไร เราก็ควรที่จะยอมรับ และจะไม่มีคำว่าแพ้เกิดขึ้น เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ประชาชนเลือก

             “วรวิทย์ บารู” บอกว่า กระบวนยุติธรรมจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงหลายๆ ปัจจัย เพราะถ้าเราอยากได้ความเป็นธรรม เราก็ต้องเป็นที่จะให้ความเป็นธรรมนั้นแก่คนอื่น เพราะบางคนเรียกร้องถึงความเป็นธรรม แต่กลับอธรรมกับสิ่งที่ตนเองยึดถือหรือหลักศรัทธา นักศึกษา นักการเมือง และองค์กรภาคประชาสังคม มีสิทธิและเห็นควรที่จะผลักดันกระบวนการ RSD เพื่อเลือกที่จะกำหนดอนาคตตนเอง เพราะเป็นเรื่องของวิชาการและเป็นที่ยอมรับตามหลักสากล

               ไฮไลต์ของงานมีการแจกบัตรกระดาษระบุหัวข้อว่า “คุณเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย” มีหมายเหตุด้านล่างระบุ “ให้กับชาวปาตานี : ผู้ที่ลงทะเบียนว่า “อาศัยอยู่ถาวรในพื้นที่ปาตานีหรือ จ.นราธิวาส, จ.ปัตตานี, จ.ยะลา และ จ.สงขลา (เฉพาะ อ.จะนะ, อ.นาทวี, อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย)”เอากันตรงๆ แบบนี้เลยครับ เหมือนกับจะออกแบบให้เป็นการ “ทำประชามติ”ว่าจะแบ่งแยกดินแดน แบ่ง “ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส และ 4 อำเภอของสงขลา” ไปเป็นเอกราช ปกครองตนเอง เหมือน “ติมอร์” แยกตัวออกไปจากอินโดนีเซีย

              “ประเทศไทยเป็นราชอาญาจักรเดียว จะแบ่งแยกมิได้” เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชัดเจน แน่นอนว่า เมื่อมีการขับเคลื่อนในลักษณะ-เนื้อหา เช่นนี้ ฝ่ายความมั่นคงจะต้องเข้ามาตรวจสอบ และถ้าเข้าข่ายผิดต่อความมั่นคงของรัฐ เจ้าหน้าที่ก็ต้องจัดการตามกฎหมาย ที่น่าจะเจอเต็มๆคือ คณะพรรคประชาชาติ ที่มี “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” เป็นหัวหน้าพรรค และเป็น 1 ใน 8 พรรคร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกล พรรคเป็นธรรม ก็เป็นอีกพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกล มีระดับรองเลขาธิการพรรค เข้าร่วมเป็นวิทยากรด้วย แต่ตัวแทนจากพรรคก้าวไกลน่าจะไหวตัวทัน เลยไม่ได้เข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้

               3 จังหวัดชายแดนภาคใต้บวก 4 อำเภอของสงขลา มีการพูดถึงรูปแบบการบริหารจัดการอยู่ 3 รูปแบบ 1.เป็นอยู่อย่างปัจจุบัน คือเป็นราชการส่วนภูมิภาค ที่รัฐบาลกลางแบ่งอำนาจไป ส่งคนไปปกครองดูแล มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นหัวหน้าสูงสุด มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆซ้อนอยู่ เช่น อบจ./อบต./เทศบาล 2.มหานครปัตตานี (ปาตอนี) เป็นการจัดรูปแบบการปกครองเป็น “การปกครองส่วนท้องถิ่น”ตามหลักกระจายอำนาจ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ คล้ายๆพัทยา และกรุงเทพมหานคร 3.แบ่งแยกตนเอง คือการแยกตัวออกไปเป็นประเทศราช มีเอกราชเป็นของตนเอง ซึ่งหมายถึงการตั้งประเทศใหม่นั้นเอง

                ที่ผ่านมาหลายปีมีการกล่าวถึงใน 3 รูปแบบนี้ แต่ ”มหานครปัตตานี” และการแบ่งแยกประเทศ ยังไม่มีอะไรคืบหน้า และความเป็นไปได้ ส่วนการแยกประเทศแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะคงไม่มีใครยอมให้แบ่งแยกดินแดนแน่นอน แต่การตั้งวงเสวนาครั้งนี้น่าสนใจยิ่ง เพราะมีการพูดกันเปิดเผย มีการเผยแพร่บทเสวนาผ่านสื่อหลากหลาย และเป็นการเสวนาที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งไม่นานนัก และเป็นการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลชนะเกินคาด พรรคประชาชาติก็มีเสียงเพิ่มขึ้นจาก 6 เป็น 9 และพรรคสายเดียวกับประชาชาติ อย่างพรรคเป็นธรรม ก็เบียดเข้ามา 1 ที่นั่ง และทั้งพรรคประชาชาติ และพรรคเป็นธรรม ก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ที่กำลังก่อตัวกันเป็นรัฐบาล

                น่าจับตามองว่า ขบวนการนี้จะพัฒนาไปถึงไหน ฝ่ายความมั่นคงคิดอย่างไร และจะทำอะไรต่อไป แต่แน่นอนว่าคงไม่มีใครยอมให้แบ่งแยกประเทศอย่างง่ายๆหรอก “ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียว จะแบ่งแยกมิได้”

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!