“พิธา” ก้าวให้พ้น “หุ้นไอทีวี”ไปก่อน อีกความยุ่งยากในการจัดตั้งรัฐบาล

“พิธา” ก้าวให้พ้น “หุ้นไอทีวี”ไปก่อน อีกความยุ่งยากในการจัดตั้งรัฐบาล

ภาพ-ข่าว:นายหัวไทร

          ผลการเลือกตั้งเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า กระแสพรรคก้าวไกลแรงเกินคาดจริงๆ ส่งผลให้พรรคก้าวไกลได้รับเลือกตั้งมาถึง 152 ที่นั่ง และเป็น 152 ที่นั่งที่มากกว่าพรรคเพื่อไทย ที่ตั้งเป้าว่า เพื่อไทยจะต้องได้ 310 ที่นั่ง ยิ่งมาดูสนามเลือกตั้งเมืองหลวง พรรคก้าวไกลกวาดไปถึง 32 ที่นั่งจากทั้งหมด 33 ที่นั่ง และ 1 ที่นั่งของเพื่อไทยที่ได้ไปก็ชนะก้าวไกลไปเพียง 4 คะแนนเท่านั้นเอง ปรากฏการณ์กวาดเรียบไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร อย่างน้อยเราเคยเห็นว่า ปี 2522 พรรคประชากรไทย ของ “สมัคร สุนทรเวช” ที่แยกตัวออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยกวาดมาแล้วเช่นกัน รวมถึงสมัย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ตั้งพรรคพลังธรรม ก็เคยกวาดสนามกรุงเทพฯมาแล้วเช่นกัน

           น่าใจหายสำหรับพรรคเพื่อไทยที่คาดกันว่าน่าจะได้ไม่น้อยกว่า 15 ที่นั่ง แต่ได้แค่ที่นั่งเดียว คนที่มั่นใจว่าจะชนะ แต่กลับแพ้ และหากทอดสายตาไกลออกไป หลายจังหวัดพรรคก้าวไกลก็กวาดมาไม่น้อย ภูเก็ตก็ยกจังหวัด สมุทรปราการ ก็ยกจังหวัด ชลบุรีก็ทำเอาบ้านใหญ่สอบตก เช่นเดียวกับระยอง บ้านใหญ่ก็ไม่เหลือ “เขาแรงจริงๆ” แม้จะเทียบไม่ได้กับสมัยพรรคไทยรักไทย ของ “ทักษิณ ชินวัตร”ที่กวาดไปเกินครึ่งจนจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ แต่ยุคสมัยนี้ก็ถือว่าก้าวไกลแรงจนแซงเพื่อไทยอย่างไม่คาดคิด

           แน่นอนว่าตัวเลข 152 เป็นตัวเลขที่มากกว่าทุกพรรคแล้ว และเป็นตัวเลขที่เป็นความชอบธรรมที่พรรคก้าวไกลจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นพรรคที่จะต้องทำหน้าที่รวบรวมเสียงให้ได้มากพอในการเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก เสียงข้างมากเฉพาะในสภาผู้แทนราษฏร จากจำนวน 500 คน ก็ต้องรวบรวมให้ได้เกิน 251 เสียง ซึ่งพิธาก็ประกาศเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 5 พรรคฝ่ายค้านเดิมไปแล้ว มีเสียง 309 เสียง ประกอบด้วยพรรคก้าวไทย 152 เสียง พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง และพรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง ประเด็นสำคัญคือ พรรคก้าวไกลจะต้องหาเสียวสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภาด้วย หรือไม่ก็ต้องหาพรรคการเมืองอื่นมาร่วมรัฐบาลเพิ่ม เพราะการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะต้องโหวตกันในที่ประชุมรัฐสภา 750 เสียง

           เรื่องเสียงในสภายังไม่สำคัญเท่ากับเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีนายพิธาถือหุ้นอยู่ในบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทไอทีวี จดแจ้งชัดเจนว่าผลิตสื่อ ซึ่งกฎหมายเลือกตั้งห้ามผู้สมัครเป็นเจ้าของสื่อ การถือหุ้นอยู่ของนายพิธา จึงถือว่าเป็นเจ้าของหรือไม่ เป็นประเด็นที่ กกต.จะต้องดำเนินการ ซึ่งตามขั้นตอนกกต.ก็ต้องสอบสวน และเรียกผู้ถูกร้องมาให้ปากคำด้วย และสุดท้ายคือสรุปสำนวนคำร้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

            เรื่องของนายพิธาเมื่อเทียบเคียงกับของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถือหุ้นในบริษัทดีลักซ์ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อเช่นกัน และศาลตัดสินตัดสิทธิ์ทางการเมืองไปแล้ว ธนาธรก็ต้องพ้นจาก ส.ส. รวมถึงความผิดพลาดอื่นๆจนนำมาสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่มาแล้ว รวมถึงเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) กรณีแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.หลังการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งพิธาไม่ได้แจ้งทรัพย์สินในส่วนของการถือหุ้นไอทีวี เรื่องนี้รอ ปปช.สอบสวนอยู่เช่นกัน

แม้พิธาจะออกมาแสดงอาการไม่สะทกสะท้านต่อการถือครองหุ้นไอทีวี โดยให้เหตุผลว่า เป็นการถือหุ้นในฐานะผู้จัดการมรดก ซึ่งมีคนออกมาโต้แย้งว่า ถ้าหุ้นในกองมรดก ใบหุ้นจะต้องมีสลักหลังไว้ด้วยว่า “หุ้นกองมรดก” แต่เท่าที่ทราบหุ้นของพิธา ในใบหุ้นไม่ได้สลักหลังไว้ ซึ่งทั้ง ปปช.และ กกต.ก็ต้องสอบ สวนให้ได้ความว่า พิธามีส่วนได้เสียต่อหุ้นไอทีวีหรือไม่ ถ้ามีส่วนได้เสียพิธาก็อาจจะเดินตามรอยธนาธรก็เป็นได้ เว้นแต่ว่าพิธาจะอธิบายเหตุผลต่อกรรมการสอบสวนให้เชื่อได้ว่าไม่มีส่วนได้เสีย และต่ออธิบายกับ ปปช.ด้วยว่า ทำไมไม่แจ้งทรัพย์สินส่วนนี้ต่อ ปปช.

กรณีการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา เป็นเรื่องน่าติดตามว่า กกต.จะว่าอย่างไร ปปช.จะวินิจฉัยออกมาแนวไหน และศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวโยงกับอนาคตของประเทศชาติ ที่กำลังก้าวเดินไปสู่การเปลี่ยนแปลงในมือของคนรุ่นใหม่ ที่ได้รับฉันทามติจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว
ทั้งหมดนี้นำมาสู่ความยุ่งยากในการดำเนินการทางการเมืองต่อไปในนามพรรคก้าวไกล และน่าจะก่อให้เกิดความยุ่งยากในการจัดตั้งรัฐบาลด้วย

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!