ประจวบคีรีขันธ์-กฟผ.นำร่องศึกษาวิจัยการปลูกหญ้าเนเปียร์เป็นพืชพลังงานในพื้นที่ อ.ทับสะแก

ประจวบคีรีขันธ์-กฟผ.นำร่องศึกษาวิจัยการปลูกหญ้าเนเปียร์เป็นพืชพลังงานในพื้นที่ อ.ทับสะแก

ภาพ-ข่าว:กูลเสวก เสวกวรรณกร

               เมื่อวันที่ 16 พ.ค.66 ที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.ทับสะแก อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯ เป็นประธานเปิดกิจกรรมการตัดหญ้าเนเปียร์และส่งเสริมการปลูกหญ้าเนเปียร์ ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาศักยภาพการปลูกพืชพลังงานในพื้นที่ชุมชนรอบ กฟผ. ทับสะแก เพื่อเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าก๊าชชีวภาพแบบ CSTR ขนาด 3 เมกะวัตต์” มี นายสมเจตร์ เจริญทรง นายอำเภอทับสะแก หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และเกษตรกรในพื้นที่ร่วมกิจกรรม
               โดย ศาสตราจารย์ ดร.ธนากร วงศ์วัฒนาเสถียร หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวรายงานว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ดำเนินงานเพื่อสนับสนุนนโยบายพลังงานของไทยในหลายโครงการ ซึ่งโครงการการผลิตพลังงานจากหญ้าเนเปียร์ เป็นโครงการที่สนองตอบต่อยุทธศาสตร์ประเทศในทุกๆด้าน ก่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงาน เป็นการพัฒนาพลังงานทดแทนและลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมให้ประชาชนในภูมิภาคมีรายได้เพิ่มขึ้น เกษตรกรได้ประโยชน์จากการปลูกและขายหญ้าในราคาที่เหมาะสม ทำให้มีรายได้ที่แน่นอน ให้ผลตอบแทนในการลงทุนที่ดีกว่าพืชเศรษฐกิจหลายชนิดซึ่งฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมได้รับมอบหมายให้ศึกษาและพัฒนาโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ทำให้เกิดโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพต้นแบบโดยใช้เชื้อเพลิงจากพืชพลังงานที่เหมาะสมกับพื้นที่บริเวณ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นในฐานะคณะที่ปรึกษาได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการศึกษาศักยภาพการปลูกพืชพลังงานในพื้นที่ชุมชนรอบ กฟผ.ทับสะแก พื้นที่ 19 ไร่ และเปรียบเทียบพืชพลังงาน สำหรับเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพแบบ CSTR ขนาด 3 เมกะวัตต์ โดยคัดเลือกพืชพลังงานจากหญ้าเนเปียร์ 4 ชนิด คือ ปากช่อง 1 บาน่า แคระ และรากแก้ว เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินการของโรงไฟฟ้าดังกล่าวในอนาคต
             นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯ กล่าวว่า โครงการศึกษาวิจัยดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดีในการใช้ประโยชน์จากหญ้าเนเปียร์เพื่อเป็นทางเลือกของเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่สามารถใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการศึกษาวิจัยในครั้งนี้จะทำให้ทราบว่าหญ้าเนเปียร์ชนิดใดที่เหมาะสำหรับการปลูกเป็นพืชพลังงาน มีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใดหากจะปลูกในเชิงพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าในช่วงต้นปี 2567 จะทราบผลการศึกษาวิจัย ก่อนที่จะมีการต่อยอดขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่ โดยอาจจะปลูกแซมในร่องสวนมะพร้าวเพื่อตัดจำหน่ายสร้างรายได้เสริม

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!