ศรีสะเกษ-สินค้าทางการเกษตรมีปริมาณเพิ่มขึ้นเครือข่ายแปลงใหญ่เพิ่มมูลค่าการผลิตมากกว่า 4 หมื่นล้านบาท

ศรีสะเกษ-สินค้าทางการเกษตรมีปริมาณเพิ่มขึ้นเครือข่ายแปลงใหญ่เพิ่มมูลค่าการผลิตมากกว่า 4 หมื่นล้านบาท

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข

            รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเผยเครือข่ายแปลงใหญ่เพิ่มมูลค่าการผลิตมากกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีปริมาณการผลิตสินค้าทางการเกษตรมีปริมาณเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ปีนี้เร่งยกระดับการเชื่อมโยงในเรื่องของการตลาดการยกระดับคุณภาพสินค้ามากยิ่งขึ้นกว่าเดิมรวมทั้งสร้างแปลงใหญ่ให้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
              เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ระดับประเทศ ครั้งที่ 2/2566 และการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ระดับประเทศ ครั้งที่ 2/2566 โดยนายสมเกียรติ ทองพันธ์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ระดับประเทศ ได้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ระดับประเทศ โดยมีการประชุมเกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรกรเป็นผู้จัดการแปลงใหญ่ โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรกรสมัยใหม่และเชื่อมโยงการตลาด ความก้าวหน้าโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ การติดตามความก้าวหน้าการแก้ไขระเบียบการช่วยเหลือเกษตรเมื่อเกิดภัยพิบัติ เป็นต้น และมี นายสายชล จันทร์วิไร ประธานคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) ได้ประชุมคณะกรรมการเครือข่าย ศพก.เกี่ยวกับความก้าวหน้าการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2566 ความก้าวหน้าการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเกษตรกรผู้นำ การพัฒนาประธาน ศพก.เพื่อให้มีทักษะความเป็นผู้นำและเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร และการสำรวจข้อมูลศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)โดยมีคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมในครั้งนี้จำนวนมาก
               นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ภาพรวมแปลงใหญ่ปี 2566 เป็นการขับเคลื่อนต่อเนื่องตั้งแต่เรามีโครงการนำร่องนโยบายส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของเราที่จะทำก็คือแปลงใหญ่ทั่วประเทศจำนวนประมาณ 14,800 แปลง ซึ่งเราดำเนินการมาได้แล้ว 9,000 กว่าแปลงในการที่จะเดินทางไปสู่เป้าหมายตอนนี้เราเดินทางมาเกินครึ่งทางเยอะมากแล้ว เรามีเกษตรกรที่เป็นสมาชิกแปลงใหญ่จำนวนทั้งสิ้น 500,000 กว่ารายที่เป็นแปลงใหญ่พื้นที่การผลิต 8.5 ล้านไร่ ซึ่งมีปริมาณในเรื่องของการพัฒนาการผลิตสินค้าทางการเกษตรมีปริมาณเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ยกระดับการเชื่อมโยงในเรื่องของการตลาดการยกระดับคุณภาพสินค้ามากยิ่งขึ้น กว่าเดิมรวมทั้งสร้างแปลงใหญ่ให้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความสำคัญและหลักการคือเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เรื่องของมาตรฐานสินค้าเกษตร การให้เกษตรกรมีศักยภาพในเรื่องของการบริหารจัดการที่สำคัญคือตลาด ทางการผลิตทางการเกษตรแปลงใหญ่นี้เมื่อสินค้ามีคุณภาพที่ดีและมีมาตรฐานแล้วจะต้องมีตลาดซึ่งเรามีการเชื่อมโยงไปสู่การตลาดค่อนข้างมาก ในปี 2566 นี้ เราโฟกัสไปที่การเชื่อมโยงทางการตลาดเป็นเรื่องหลักที่เราจะดำเนินต่อไป
                  นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่เราดำเนินการมาแล้วผลที่เป็นรูปธรรมเป็นตัวเลขเราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่า 70,000 ล้านบาท หมายความว่าเราลดต้นทุนการผลิต ประมาณ 31,000 ล้านบาทและเพิ่มมูลค่าการผลิตมากกว่า 40,000,000,000บาท รวมทั้ง 2 ตัวนี้ทำให้เกิดมูลค่าการจัดการสินค้าทางการเกษตรมันมีมูลค่ามากกว่า 70,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า แนวทางที่เราทำทั้งเรื่องมาตรฐาน เรามีมาตรฐานจีพี มากกว่า 150,000 รายมี มาตรฐานอีซีมากกว่า 23,000 ราย เกษตรกรทำสินค้ามาตรฐานได้มากยิ่งขึ้น ต้นทุนลดลง มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้นทำให้กำไรของเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรเพิ่มดีมากขึ้น ตรงนี้เป็นตัวชี้วัดที่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตนได้ย้ำเมื่อสักครู่ว่า ในด้านการเดินหน้าการเชื่อมโยงทางการตลาดเป็นจุดหมายที่สำคัญของเราจะทำต่อไปตอนนี้เราจับมือกับเอกชนทุกภาคที่เดินหน้ามา ใครต้องการที่จะจับคู่เศรษฐกิจกับเรา เราจะเป็นตัวกลางระหว่างเกษตรกรกับผู้ค้าให้จับคู่กัน โดยเราดูในเรื่องผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก เมื่อเกิดคู่ค้าทางการเกษตรเกิดขึ้นเยอะๆแล้ว ก็จะทำให้เกษตรกรได้ประโยชน์จากการที่ขายสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมีราคาดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
                    นายสมเกียรติ ทองพันธ์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ระดับประเทศ กล่าวว่า ตอนนี้ภาพรวมแปลงใหญ่ของระดับประเทศต้นทุนสูง ซึ่งขณะนี้แปลงใหญ่ของเราต้องใช้ปุ๋ยเคมีทุกตัวทุกสูตรและน้ำมันก็ราคาสูง ปัญหาที่เกิดขึ้นตรงนี้เราก็ได้ประชุมปรึกษาหารือกันระดับประเทศโดยจะต้องร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนสูง เราก็ได้ประสานระดับจังหวัดลงไปสู่พื้นที่ทางด้านล่างให้เกษตรกรกลุ่มใหญ่ ลดต้นทุนในการใช้ปุ๋ย เรื่องค่าวัดดินของปุ๋ย ประเด็นของเราต้องการปุ๋ยอะไรและส่วนที่ 2 ให้เกษตรกรแปลงใหญ่รวบรวมเพื่อทำปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นมาเองใช้เอง เพราะว่าถ้าปุ๋ยเคมีราคาแพงขึ้นมาแบบนี้พี่น้องเกษตรกรก็จะต้นทุนสูงและปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือจะขาดทุนตลอด จุดแข็งของสมาชิกแปลงใหญ่ต้องขอบคุณรัฐบาลและขอบคุณกรมส่งเสริมการเกษตรที่ส่งเสริมให้แปลงใหญ่ยกระดับขึ้นมา ตั้งแต่ปี 2559 และเป็นโครงการที่ดีให้กับเกษตรกร ทำให้เกษตรกรได้ใช้เครื่องมือทางเกษตรที่ราคาถูก สมาชิกได้มีความรู้จักวิชาการเกษตรเพื่อจะได้นำองค์ความรู้ไปพัฒนาในกลุ่มแปลงของตนเองและสมาชิกได้รวบรวมสินค้าของเขาเอง ทางการตลาดเพื่อนำออกไปขายให้กับตลาดทั่วไป
                นายสายชล จันทร์วิไร ประธานคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) กล่าวว่า เราเป็นศูนย์ ศพก. เพิ่มประสิทธิภาพทางเกษตร เรามีความมุ่งหวังว่า ศพก.จะต้องมีสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานมีความปลอดภัย โดย ศพก.จะต้องได้รับมาตรฐานจีเอพีทุก ศพก. เพื่อจะได้เป็นเครื่องการันตีเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป ตอนนี้เราพัฒนาในเรื่องของสินค้าทางการเกษตร ทั้ง 882 ศูนย์ทั่วประเทศ เครือข่ายของเรา 13,070 ศูนย์ทั่วประเทศ เรามีการพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานและเพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศให้กับพี่น้องเกษตรกรหรือคนในประเทศไม่ให้มีภาวะในเรื่องของการขาดอาหารหรือขาดแคลนอาหารในประเทศไทย เราเพิ่มการผลิตโดยการเพิ่มการผลิตของเรานั้นเรามีการลดต้นทุนไปในตัวด้วย เพราะว่าเรามีหลักสูตรในเรื่องของการลดต้นทุนในการที่จะให้เกษตรกรทำน้อยให้ได้มากเพื่อรองรับกับภาวะการบริโภคภายในประเทศของเรา แนวทางการลดต้นทุนทางการเกษตรภายในประเทศของเรานั้น ศพก. มีหลักสูตรสำคัญที่สุดก็คือในเรื่องของการลดต้นทุนในเรื่องของการผลิต ด้วยสภาวการณ์จิตในปัจจุบันเกษตรกรของเราแบกรับภาระในเรื่องต้นทุนของการผลิต เราจึงมีนโยบายในเรื่องของ ศพก. ให้หลักสูตรแรกในเรื่องของการเพิ่มผลผลิตการเกษตรและแนวทางที่ 2 เราจะต้องลดต้นทุนในเรื่องของการผลิตโดยการลดการใช้สารเคมีสามารถที่จะมาทำปุ๋ยหมักหรือธาตุอาหารต่างๆได้เองโดยใช้สิ่งที่มีอยู่ในชุมชน นำเอากลับมาใช้เพื่อลดต้นทุนในการผลิตในภาคของเกษตรกร

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!