เพชรบุรี-ชัยวัฒน์ ยื่นฟ้องศาลปกครอง ค้านใช้แนวเขตสำรวจป่าวังน้ำเขียวปี 2543

เพชรบุรี-ชัยวัฒน์ ยื่นฟ้องศาลปกครอง ค้านใช้แนวเขตสำรวจป่าวังน้ำเขียวปี 2543

ภาพ-ข่าว-สุรพล นาคนคร

           “ชัยวัฒน์” ยื่นฟ้องศาลปกครอง ค้าน คทช. ครม. ใช้แนวเขตสำรวจป่าวังน้ำเขียวปี 2543 แก้ปมทับลาน ชี้ขัดต่อหลักเกณฑ์ One Map รัฐธรรมนูญ และ กฎหมายหลายฉบับ และเสี่ยงที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จะถูกเพิกถอนออกจากมรดกโลก

            วันที่ 15 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 น. นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ยื่นฟ้องฟ้องศาลปกครอง เพื่อคัดค้าน คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ใช้แนวเขตสำรวจป่าวังน้ำเขียว ปี 2543 แก้ปมป่าทับลาน สืบเนื่องจากประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 2/66 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 โดยที่ประชุม คทช.มีมติเห็นชอบแนวทางการใช้เส้นปรับการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ.2543 เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐซ้อนทับกันในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน

            ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามแนวทางการแก้ปัญหาตามมติคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ดังกล่าว ซึ่งการใช้เส้นปรับการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ.2543 จะส่งผลให้มีการกันพื้นที่ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นจำนวน 273,310 ไร่หรือคิดเป็นร้อยละ 19.52 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ทั้งหมด จึงเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจอย่างยิ่งเนื่องจากอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นพื้นที่มรดกโลก กลุ่มดงพญาเย็น – เขาใหญ่ อันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายากหรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย และยังมีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในระดับประเทศและระดับโลก มติดังกล่าวเป็นความเสี่ยงที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จะถูกเพิกถอนออกจากมรดกโลก มิหนำซ้ำรีสอร์ท และบ้านพักตากอากาศ 400 กว่าแห่ง ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีเนื่องจากบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ จะได้ประโยชน์จากการเพิกถอนแนวเขต หากเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นเขต ส.ป.ก. ก็จะสามารถปลดล๊อคให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปหรือที่ดิน ส.ป.ก. ทำรีสอร์ท หรือบ้านพักตากอากาศ (กิจการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย เช่น ที่อยู่อาศัย ที่พัก หอพัก ตามประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563)

              จากข้อมูลพบว่า มีแปลงคดีที่อยู่ในเส้นปรับการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 จำนวน 122 แปลง เนื้อที่ 2,166 ไร่ และมีแปลงคดีที่อยู่นอกเส้นปรับการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ.2543 จำนวน 479 แปลง พื้นที่ 8,856 ไร่ ซึ่งพื้นที่บริเวณแปลงคดีดังกล่าวนี้ในอนาคตอาจนำมาฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวเป็นป่าธรรมชาติได้

              ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติทับลานบริเวณท้องที่อำเภอวังน้ำเขียวนั้น ถือว่าเป็นพื้นที่ทำเลทองสำหรับการสร้างโรงแรม หรือรีสอร์ท เพราะเป็นแหล่งโอโซนดีที่สุดติดอันดับ 1 ใน 7 ของโลก ในปี พ.ศ.2554-2555 กรมอุทยานฯ ได้ตรวจยึดแปลงที่ดินบริเวณอำเภอวังน้ำเขียว ที่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีการซื้อ ขาย เปลี่ยนมือผู้ถือครอง เปลี่ยนรูปแบบการทำประโยชน์ จากเกษตรกรรมเป็นการสร้างโรงแรม รีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ ในพื้นที่ที่ผ่อนผันให้ทำประโยชน์เพื่อรอการพิสูจน์สิทธิ์ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยกรมอุทยานฯ สามารถตรวจยึดแปลงคดีได้ไม่ต่ำกว่า 400 คดี เฉพาะในท้องที่อำเภอวังน้ำเขียว จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2566) มีจำนวน 365 คดี จึงเห็นได้ว่า ที่ดินบริเวณเขตปฏิรูปที่ดินที่ทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ในปัจจุบันส่วนใหญ่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำประโยชน์จากเกษตรกรรม เป็นธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ต้องการให้เกษตรกรหรือผู้ยากจนที่ไม่มีพื้นที่ทำกินได้มีพื้นที่ทำกินในเขตปฏิรูปที่ดิน
            มติของ คทช ดังกล่าว จึงมิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของกลุ่มนายทุน หรือผู้ประกอบการรีสอร์ท โดยเล็งเห็นผลว่าอนาคตพื้นที่ป่าวังน้ำเขียว ที่เคยถูกดำเนินคดี จะถูกปรับไปเป็น ส.ป.ก.4-01 ให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร เป็นผู้ดูแล และจะปรับเปลี่ยนไปเป็นโฉนดที่ดิน ตามนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมือง ป่าวังน้ำเขียวก็จะเป็นโฉนดที่ดินในอีกไม่นานนี้ การดำเนินการแบบนี้ถือได้ว่าเป็น “ทับลานโมเดล” ที่ทาง คทช. จะนำไปจัดที่ดินพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า – หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง, ที่ดินพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต และที่ดินพื้นที่ป่าชายเลน จ.พังงา ซึ่งจะทำให้มีการสูญเสียพื้นที่ป่าอีกหลายแสนไร่

ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เผยว่า มติ คทช. และมติ ครม.ดังกล่าว ขัดต่อหลักเกณฑ์การทำแผนที่ One Map ประการสำคัญ ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ คือ หลักเกณฑ์ที่ 5.1 ซึ่งกำหนดให้ กรณีป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน ให้ใช้แนวเขตตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินที่มีแผนงานดำเนินการแล้วเป็นหลักและหลักเกณฑ์ที่ 6.1 กรณีกรมป่าไม้ ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. และได้มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ก่อนการกำหนดให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ให้ใช้แนวเขตปฏิรูปที่ดินเป็นหลัก แต่เส้นปรับการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ.2543 นั้น กลับมิใช่เส้นแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าวังน้ำเขียว ที่กรมป่าไม้ ส่งมอบพื้นที่ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นำไปดำเนินการตามโครงการพัฒนาการในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มติ คทช. และ มติ ครม.จึงเป็นมติที่มิชอบและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง

          นอกจากนี้มติ คทช. และ มติ ครม.ดังกล่าว ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 65 ซึ่งกำหนดให้ “รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว”และขัดต่อแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประกอบมาตรา 5 พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยในแผนยุทธศาสตร์ชาติเรื่องการการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ระบุให้รักษา และเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยหยุดยั้งการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า ฟื้นฟู และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการเพิ่มและรักษาพื้นที่สีเขียวเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในภาพรวมของประเทศ ซึ่งปี 2566 – 2570 กำหนดสัดส่วนพื้นที่สีเขียวพื้นที่เป็นป่าธรรมชาติ ร้อยละ 33 ของพื้นที่ประเทศ (หมายรวมถึงพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ทั้งหมด รวมพื้นที่ทับซ้อนที่มีราษฎรถือครองด้วย)

            การกันพื้นที่ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 273,310 ไร่ จึงเป็นการลดพื้นที่สีเขียวพื้นที่เป็นป่าธรรมชาติลง ร้อยละ 0.85 ของพื้นที่ประเทศ ย่อมส่งผลให้พื้นที่ป่าไม้ อันควรค่าแก่การอนุรักษ์และทรัพยากรทางธรรมชาติลดน้อยลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงเป็นการเพิกถอนแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาอุทยานแห่งชาติทับลาน พ.ศ.2524 โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ ซึ่งขัดต่อพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ในมาตรา 16 (3) อีกด้วย

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!