ศรีสะเกษ-โรงพยาบาลศรีสะเกษเปิดศูนย์บริการการแพทย์ทางไกลและศูนย์รับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ

ศรีสะเกษ-โรงพยาบาลศรีสะเกษเปิดศูนย์บริการการแพทย์ทางไกลและศูนย์รับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข

                  เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 10 ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์บริการการแพทย์ทางไกล โรงพยาบาลศรีสะเกษ หลังจากนั้น ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 10 ได้เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์รับบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ“บริจาคอวัยวะแก่เพื่อนมนุษย์คือที่สุดแห่งการให้”โรงพยาบาลศรีสะเกษ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ที่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้จัดตั้งศูนย์รับบริจาคอวัยวะในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ และพัฒนาทีมจัดเก็บอวัยวะและศูนย์ผ่าตัดปลูกถ่ายไตในทุกเขตสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัด ได้มีโอกาสเข้าถึงบริการปลูกถ่ายอวัยวะที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยเฉพาะการปลูกถ่ายไตและดวงตา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมี นายแพทย์ทนง วีระแสงพงษ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ นพ.ชลวิทย์ หลาวทอง ผอ.โรงพยาบาลศรีสะเกษ คณะแพทย์-พยาบาลโรงพยาบาลศรีสะเกษ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมให้การต้อนรับและร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้
                นพ.ชลวิทย์ หลาวทอง ผอ.โรงพยาบาลศรีสะเกษ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาและส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล เรียกว่าการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicineการ นำเทคโนโลยีสารสนเทศผนวกกับบริการการแพทย์ทางไกลของโรงพยาบาลศรีสะเกษ โดยเริ่มให้บริการกับผู้ป่วยจิตเวช ผู้ต้องขังในเรือนจำ และได้ให้บริการเภสัชกรรมทางไกลมาแล้ว ในปัจจุบันโรงพยาบาล ศรีสะเกษ ได้ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้บริการสำหรับบริการการแพทย์ทางไกลของโรงพยาบาลศรีสะเกษ ใช้ชื่อว่า Glink Telemedicine (กริ๊งเทเลเมดิชิ่น) หรือหมอกริ๊ง เชื่อมโยงข้อมูลบริการผู้ป่วยของโรงพยาบาล เพื่อให้ใช้งานบันทึกข้อมูลนัดและเชื่อมโยงแอปพลิเคชั่น หมอพร้อมและไลน์หมอพร้อม การส่งแจ้งเตือนนัดการส่งลิ้งค์ เพื่อกดเข้าพบแพทย์ การเชื่อมโยงสหสาขาวิชาชีพ เพื่อร่วมให้บริการแก่ผู้ป่วยได้ในคราวเดียวกัน สามารถปรึกษากับแพทย์ แจ้งผลข้อมูลการตรวจเบื้องต้น เช่นการตรวจเลือดหรือการจ่ายยาได้โดยตรงผ่านอุปกรณ์สื่อสาร เช่นโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์
               นพ.ชลวิทย์ หลาวทอง ผอ.โรงพยาบาลศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า โดยมีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกผ่าน รพ.สต.อสม. หรือผู้ดูแลที่บ้านได้ และมีเป้าหมายให้บริการการแพทย์ทางให้กับประชาชนในหลายกลุ่มเพิ่มขึ้น เช่นกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง เฉลี่ยเดือนละ 50 ราย และการดูแลต่อเนื่องที่บ้านเช่นกลุ่มผู้ป่วยระยะกลาง IMC อำเภอเมืองศรีสะเกษ กลุ่มผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องการรับประเมินความพิการและขอรับอุปกรณ์เครื่องช่วย เช่น ที่นอนลมรถเข็นจากแพทย์เฉพาะทาง กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายเก่า ที่มีอาการคงที่และควบคุมโรคได้ดี และกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลให้ได้รับบริการด้านสาธารณสุข โดยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ เพื่อเป็นช่องทางการติดต่อหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษาและติดตามผลการรักษาภายหลังการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ทำให้รักษาอย่างถูกต้อง แม่นยำและต่อเนื่อง ไม่เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อเป็นการลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลศรีสะเกษ
              นพ.ชลวิทย์ หลาวทอง ผอ.โรงพยาบาลศรีสะเกษ ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันอวัยวะและดวงตาบริจาคจากผู้ที่เสียชีวิตยังไม่เพียงพอต่อการนำไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วย จากข้อมูลศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ยังมีผู้รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะถึง 6,279 ราย ขณะที่มีผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเพียง 677 ราย ส่วนผู้ป่วย กระจกตาพิการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้แสดงความจำนงบริจาคดวงตา 7,799 ราย(ยอดสะสม 1,522,341 ราย) มีผู้ได้รับการปลูกถ่ายกระจกตาไปแล้ว 16,830 ราย มีผู้รอคอยการปลูกถ่ายอีกจำนวนมากถึง 17,878 ราย ประเทศไทยมีผู้ป่วยในระยะสุดท้ายอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ, ตับ, ไต, ปอด ฯลฯ ที่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ วิธีรักษาทางการแพทย์ที่ดีที่สุด คือการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่ ด้วยอวัยวะของผู้มีจิตศรัทธาแสดงเจตนารมณ์บริจาคอวัยวะ หรือได้จากญาติ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นมาปลูกถ่าย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายมีชีวิตอยู่กับครอบครัวและสังคมต่อไป

 

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!