ชลบุรี-ท่าเรือแหลมฉบัง บูณาการแก้ไขปัญหาตู้สินค้าตกค้าง

ชลบุรี-ท่าเรือแหลมฉบัง บูณาการแก้ไขปัญหาตู้สินค้าตกค้าง

ภาพ-ข่าว:นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี

สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ร่วมกับโครงการท่าเรือสีขาวพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย ร่วมแก้ไขปัญหาตู้สินค้าคอนเทนเนอร์คงค้างภายในเขตท่าเรือแหลมฉบัง

                  เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 66 ที่ ท่า C1 และ C2 ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าว กรณีตู้สินค้าคอนเทนเนอร์คงค้างภายในเขตท่าเรือแหลมฉบังจำนวนกว่าพันตู้ ทั้งตู้สินค้าเก็บความเย็นตู้สินค้าทั่วไป และตู้สินค้าอันตราย ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสินค้า ค่าเสียโอกาสจากการใช้พื้นที่จัดเก็บตู้สินค้า และเสียเวลาในการขนย้ายตู้สินค้าคงค้างเพื่อจัดเรียงตู้สินค้าใหม่ ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในเขตท่าเรือ ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบกับหลายหน่วยงาน เช่น ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือ ตัวแทนเรือ ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และการท่าเรือแห่งประเทศไทย
                จึงขอให้สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ ที่คงค้างอยู่ในท่าเรือแหลมฉบัง สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้ 1.ตู้สินค้าของตกค้างที่อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจ หรือดำเนินการจำหน่าย เเละ 2. ตู้สินค้าที่เป็นของกลางซึ่งบางส่วนอยู่ระหว่างกระบวนการจำหน่ายเเละบางส่วนเป็นของกลางที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีอาญาไม่สามารถจำหน่ายได้ สำหรับตู้สินค้าคงค้างที่มีระยะเวลานาน สาเหตุเกิดจากตู้สิน  ค้าบางส่วนอยู่ในระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนบางส่วนเป็นของกลางเเละของตกค้าง ที่ต้องจำหน่าย โดยวิธีการทำลายเเต่ไม่มีงบประมาณในการทำลาย หรือต้องให้หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการทำลาย ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูง เเละบางส่วนเป็นตู้สินค้าของกลางเเละของตกค้างที่มีการสำรวจเเละประเมินราคาเเล้วปรากฎว่าราคาขายทอดตลาดสูงกว่าราคาตลาด หรือเป็นสินค้าที่สภาพของสินค้าไม่เป็นที่ต้องการของท้องตลาด เช่น ตู้สินค้าเศษพลาสติกที่ได้ดำเนินการเปิดประมูลประมาณ 10 ครั้ง แล้วยังไม่สามารถขายได้ จึงเกิดตู้สินค้าคงค้างที่จัดเก็บเป็นเวลานาน
                 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ผลการดำเนินการเกี่ยวกับของกลางและของตกค้างในปี 2564 รวมทั้งสิ้น 204 ตู้ โดยได้ดำเนินการขายทอดตลาดจำนวน 142 ตู้ ส่งทำลาย จำนวน 30 ตู้ ส่งมอบจำนวน 9 ตู้ ขายปันส่วนจำนวน 2 ตู้ขายคืนเจ้าของจำนวน 20 ตู้ และขอผ่อนผันการปฏิบัติพิธีการจำนวน 1 ตู้ ในปี 2565 รวมทั้งสิ้น 138 ตู้ โดยได้ดำเนินการขายทอดตลาดจำนวน 88 ตู้ส่งทำลายจำนวน 30 ตู้ ส่งมอบจำนวน 12 ตู้ ขายปันส่วนจำนวน 2 ตู้ ขายคืนเจ้าของจำนวน 1 ตู้ และขอผ่อนผันการปฏิบัติพิธีการจำนวน 5 ตู้ ซึ่งผลการดำเนินการเกี่ยวกับของกลางและของตกค้างในปี 2564 และ 2565 รวมทั้งสิ้น 342 ตู้
               ปัจจุบันตู้สินค้าที่เป็นของกลาง ของตกค้าง และของผ่านแดนที่ตกเป็นของแผ่นดิน ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีหรือรอจำหน่ายจำนวนทั้งสิ้น 331 ตู้ แบ่งเป็นตู้ของกลางจำนวน 130 ตู้ ของตกค้างจำนวน 160 ตู้ และของผ่านแดนที่ตกเป็นของแผ่นดินจำนวน 41 ตู้ ในส่วนของตู้สินค้าเก็บความเย็นตกค้าง พบว่ามีตู้สินค้าที่รอดำเนินการสำรวจจำนวน 64 ตู้ ตู้สินค้าที่ผู้นำเข้ายื่นคำร้องขอผ่อนผันเพื่อปฏิบัติพิธีการศุลกากรจำนวน 84 ตู้และมีตู้สินค้าที่ดำเนินการสำรวจแล้ว จำนวน 154 ตู้ ในปี 2566 สำนักงานศุลกากร ท่าเรือแหลมฉบัง ได้ดำเนินการเกี่ยวกับตู้สินค้าของกลาง ของตกค้าง และของผ่านแดนที่ตกเป็นของแผ่นดิน ดังนี้
            วันที่ 11 มกราคม 2566 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังส่งมอบตู้สินค้าตกค้างประเภทเนื้อหมูสามชั้นที่เป็นสินค้าต้องกำกัด น้ำหนัก 28,594 กิโลกรัม ให้แก่ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี โดยได้มีการนำไปทำลาย ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เพชรบุรี

             วันที่ 17 มกราคม 2566 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังได้ส่งมอบตู้ขาไก่แช่แข็งที่เป็นของตกค้างและเป็นของต้องกำกัด จำนวน 1,800 กล่อง น้ำหนักรวม 21,600 กิโลกรัม ให้แก่ ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี โดยได้มีการนำไปทำลาย ณ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ปราจีนบุรี

             วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังส่งมอบตู้ขาไก่แช่แข็งที่เป็นของตกค้างและเป็นของต้องกำกัดจำนวน 6 ตู้ ให้แก่ ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี โดยจะนำไปทำลาย ณ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ปราจีนบุรี

             วันที่ 9 มีนาคม 2566 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังมีกำหนดการขายทอดตลาดของกลาง ของตกค้าง และของผ่านแดนที่ตกเป็นของแผ่นดิน  ตู้สินค้าเก็บความเย็นตกค้าง ซึ่งได้เปิดสำรวจแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการส่งมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 97 ตู้
            ทั้งนี้ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ได้กำชับให้ทุกส่วนงานเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการเร่งสำรวจของตกค้างส่งมอบของตกค้างให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เร่งรัดการดำเนินการกับของกลาง การขายทอดตลาด รวมถึงการบูรณาการร่วมกับผู้ประกอบการและหน่วยงานอื่น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลพร้อมทั้งตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อหารือแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รับฟังปัญหาและอุปสรรคเพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจของกรมศุลกากรต่อไป

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!