ประจวบคีรีขันธ์-“อลงกรณ์” ปล่อยเรือตรวจการณ์ป้องกันทำผิดกฎหมายประมงช่วงปิดอ่าวไทยฟื้นฟูสัตว์น้ำ

ประจวบคีรีขันธ์-“อลงกรณ์” ปล่อยเรือตรวจการณ์ป้องกันทำผิดกฎหมายประมงช่วงปิดอ่าวไทยฟื้นฟูสัตว์น้ำ

ภาพ-ข่าว:กูลเสวก เสวกวรรณกร

                  เมื่อวันที่ 15 ก.พ. นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน พื้นที่ทะเลอ่าวไทย ประจำปี 2566 หรือมาตรการปิดอ่าวไทย ที่บริเวณสวนสาธารณะปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มี นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น สมาคมประมง ร่วมพิธี เพื่ออนุรักษ์พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำที่มีไข่แก่พร้อมสืบพันธุ์วางไข่ และอนุรักษ์สัตว์น้ำวัยอ่อนให้เจริญเติบโตเป็นสัตว์น้ำรุ่นใหม่ โดยกำหนดช่วงเวลาปิดอ่าวไทย ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคมนี้ ครอบคลุมเขตพื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง – อ่าวไทยตอนใน (รูปตัว ก) ในเขตพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี และระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม – 14 มิถุนายน 2566 ในบริเวณอาณาเขตตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่องตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึง อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และบริเวณพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก 2 ช่วงระยะเวลา ได้แก่ ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – 15 สิงหาคม 66 ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในฝั่งตะวันตกของ จ.ประจวบฯ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร และระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในด้านเหนือของจังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี อนุญาตให้ทำการประมงเฉพาะเครื่องมือบางประเภทที่ประกาศให้ใช้ได้เท่านั้น
                 ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ได้ประกอบพิธีบวงสรวง พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และกล่าวคำปฏิญาณตน พร้อมกล่าวเปิดพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ มีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในพื้นที่ทะเลอ่าวไทย ประจำปี 2566 มอบแผ่นป้ายเงินอุดหนุนโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านประมงให้กับผู้แทนองค์กรประมงท้องถิ่นทั่วประเทศ จำนวน 200 ชุมชน โดยมอบให้กับผู้แทนสมาคมประมงพื้นบ้าน และมอบป้ายเงินอุดหนุนให้แก่ประธานองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในเขตจังหวัดชุมพร จำนวน 4 ชุมชน ได้แก่ สมาคมประมงด่านสวี หมู่ที่ 3 ต.ด่านสวี อ.สวี จ.ชุมพร ชุมชนประมงท้องถิ่นบ้านควนเสาธง หมู่ที่ 9 ต.ตะโก อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร กลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านกลางอ่าว 1 หมู่ที่ 13 ต.บางมะพร้าว อ.หลังสวน จ.ชุมพร กลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านกลางอ่าว 2 หมู่ที่ 14 ต.บางมะพร้าว อ.หลังสวน จ.ชุมพร ประธานองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในเขตประจวบฯ จำนวน 3 ชุมชน ได้แก่ กลุ่มแปรรูปอาหารทะเลบ้านเขาแดง อ.กุยบุรี กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านปากคลอง ต.บางสะพาน อ.บางสะพานน้อย และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนประมงและการท่องเที่ยวบางสะพาน ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน และประธานองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นจังหวัดเพชรบุรี จำนวน 3 ชุมชน ได้แก่กลุ่มประมงพัฒนาสาหร่ายทะเลเพชรบุรี ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ต.บางขุนไทร อ.บ้านแหลม และกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง ต.นาพันสาม อ.เมือง จ.เพชรบุรี และได้มอบพันธุ์สัตว์น้ำให้แก่ตัวแทนชุมชนประมงท้องถิ่นในพื้นที่ จ.ประจวบฯ จำนวนทั้งสิ้น 215,000 ตัว
                 ประกอบด้วย กุ้งกุลาดำ 200,000 ตัว กุ้งแชบ๊วย 10,000 ตัว และปลากะพง 5,000 ตัว จากนั้น นายอลงกรณ์ ได้ร่วมปล่อยเรือตรวจประมงทะเลออกปฏิบัติงานในพื้นที่ ประกอบด้วย เรือตรวจประมงทะเลขนาด 60 ฟุต เรือตรวจประมงทะเล ขนาด 38 ฟุต เรือตรวจประมงทะเลขนาด 24 ฟุต เรือตรวจประมงทะเลขนาด 19 ฟุต และเรือยางตรวจประมงทะเล และเยี่ยมชมนิทรรศการจากหน่วยงานกรมประมงและหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดประจวบฯ อาทิ นิทรรศการการจัดตู้แสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่เพาะพันธ์เพื่อการอนุรักษ์พร้อมบอร์ดแสดงข้อมูล นิทรรศการผลการศึกษาทางวิชาการมาตรการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน บริเวณอ่าวไทยตอนกลาง อ่าวไทยรูปตัว ก นิทรรศการมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลางและมาตรการปิดอ่าวไทยตอนในในภาพรวม รวมไปถึงมาตรการที่เกี่ยวข้อง นิทรรศการการลงทะเบียนเพื่อขอรับใบอนุญาตประมงพื้นบ้านและเตรียมความพร้อมก่อนลงทะเบียนขอรับใบอนุญาตประมงพื้นบ้าน นิทรรศการการควบคุมการทำประมงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมชุมชนประมง การอนุรักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (MMPA) นิทรรศการการจัดทำหนังสือคนประจำเรือ (Sea book)
                 นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า มาตรการปิดอ่าวไทยในปีที่ผ่านมา จากข้อมูลทางวิชาการ พบว่าทำให้พ่อแม่พันธุ์ปลาทูมีความสมบูรณ์เพศและมีการแพร่กระจายของลูกปลาทูและสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดอื่นในพื้นที่ที่ประกาศใช้มาตรการอย่างชัดเจน ส่วนพื้นที่อ่าวไทยบริเวณบางส่วนของ จ.ประจวบฯ เมื่อเปรียบเทียบองค์ประกอบของลูกปลาทูและสัตว์น้ำชนิดอื่น พบว่า ระยะเวลาและพื้นที่บังคับใช้มาตรการ มีการปรับปรุงประกาศให้สอดคล้องกับสภาวะทรัพยากรและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาทั้งนี้ ปริมาณการจับปลาทูในอ่าวไทยปีที่ผ่านมา (ปี 2565) จับได้ถึง 31,999 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,156.01 ล้านบาท มากกว่าผลการจับของปี 2564 ถึง 12,402 ตันคิดเป็นมูลค่า 780.63 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 63.28 ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันดีที่แสดงถึงความเหมาะสมของการใช้มาตรการปิดอ่าวไทยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในการติดตามประเมินผลทางวิชาการของมาตรการฯ พบว่าในห้วงเวลาก่อนการประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 64 – 65) ในช่วงวันที่ 1 – 14 กุมภาพันธ์ พบพ่อแม่ปลาทูมีความสมบูรณ์เพศในอัตราที่สูงสุดถึงร้อยละ 100 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปลาทูมีความสมบูรณ์เพศก่อนช่วงมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง และพบความยาวเฉลี่ยของ พ่อ-แม่ ปลาทูอยู่ที่ 18.5 ซม.ซึ่งพร้อมสืบพันธุ์วางไข่ จึงมีข้อเสนอแนะทางวิชาการว่าเห็นควรปรับปรุงมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลางให้สอดคล้องกับสภาวะทรัพยากรและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นของชาวประมงในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และสุราษฎร์ธานีเห็นด้วย ทั้งนี้ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้มีข้อเสนอว่าควรปรับช่วงเวลาปิดอ่าวตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ในปี พ.ศ. 2567

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!