ศรีสะเกษ-สาวงาม 5 ตำบลกว่า 500 คนรำเปิดงานบุญข้าวจี่มหัศจรรย์ของดีโพธิ์ศรีสุวรรณ

ศรีสะเกษ-สาวงาม 5 ตำบลกว่า 500 คนรำเปิดงานบุญข้าวจี่มหัศจรรย์ของดีโพธิ์ศรีสุวรรณ

ภาพ-ข่าว:ศูนย์ข่่าวจังหวัดศรีสะเกษ

 “ชมข้าวจี่ยักษ์กินกันทั้งหมู่บ้านก็ไม่หมด หวังหาเงินรายได้ตั้งกองทุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่และกองทุนในการสร้าง ซ่อมแซมบ้านให้กับครัวเรือนยากจน”

                    เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สนามหน้าที่ว่าการ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ นายนพ พงศ์ผลาดิสัย รอง ผวจ.ศรีสะเกษ ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีบุญข้าวจี่มหัศจรรย์ของดีโพธิ์ศรีสุวรรณ ประจำปี 2566 ซึ่ง อ.โพธิ์ศรีสุวรรณร่วมกับสภาวัฒนธรรมอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกแห่ง ส่วนราชการทุกส่วน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารสถานศึกษา ทุกแห่ง สมาชิกสภาองค์กรปกครองท้องถิ่น กลุ่มพลังมวลขน ชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ และชาวอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ ได้ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้น ซึ่ง”ประเพณีบุญข้าวจี่มหัศจรรย์ของดีโพธิ์ศรีสุวรรณ” จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 โดยในปี พ.ศ.2566 กำหนดขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีการจัดทำข้าวจี่ยักษ์หลายอันมาแสดงให้ชมด้วย หลังจากพิธีเปิดงานแล้ว นางรำจาก 5 ตำบลกว่า 500 คนที่แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองอย่างสวยงามมากได้ร่วมกันรำเปิดงานอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาโดยมีนายสุวรรณ เนตรเนติกุล นายอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ เป็นผู้กล่าวรายงาน และมี นายประหยัด ถิลา วัฒนธรรม จ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย น.ส.วริศรา โสภาค พัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ นายอภิศักดิ์ แซ่จึง รองนายก อบจ.ศรีสะเกษ ดร.ฤทธา นันทพันธ์ อดีตศึกษาธิการจังหวัดศรีสะเกษ นางขวัญตา คิดดี ปลัดอาวุโส อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ ได้นำข้าราชการ ตำรวจ พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ สารวัตร ทุกตำบล และประชาชนอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณจาก 5 ตำบล 80 หมู่บ้าน เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก                          นายสุวรรณ เนตรเนติกุล นายอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ กล่าวว่า อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ ประกอบด้วย 5 ตำบล 80หมู่บ้าน ประชากร 23,637 คน ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและนับถือศาสนาพุทธ มีประเพณีที่ได้ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน คือ “ประเพณีฮีตสิบสอง” ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีตามหลักคำสอนตามหลักพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนชาว อ.โพธิ์ศรีสุวรรณได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาในเดือนสามของทุกปีคือ “ประเพณีบุญข้าวจี่”เป็นประเพณีที่ให้ความสำคัญในการบูชาข้าวจี่ เพราะมีความเชื่อว่า การถวายข้าวจี่มีอานิสงค์มาก ภายในงานมีการจัดกิจกรรมหลายกิจกรรม อาทิ การประกวดสินค้าเกษตรการประกวดไก่พ่อพันธ์พื้นเมือง การจำหน่ายสินค้า OTOP การประกวดธิดาข้าวจี่ การประกวดขบวน แห่ข้าวจี่ การประกวดทำข้าวจี่ลีลา การแข่งขันปิดตากินข้าวจี่สีลาฯลฯ มีวัตถุประสงค์การจัดงาน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข หมู่บ้านพัฒนายั่งยืน Sustainable Village ของกระทรวงมหาดไทย เพื่อส่งเสริม อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชุมชนให้คงอยู่สืบไป เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชุมชน
                     นายสุวรรณ เนตรเนติกุล นายอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ กล่าวต่อไปว่า รายได้หลังจากการหักค่าใช้จ่ายแล้วจะนำไปจัดตั้งกองทุนเพื่อสวัสดิการสังคม ให้กับครัวเรือนยากไร้ ผู้ประสบความเดือดร้อนในพื้นที่ อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ ประกอบด้วย กองทุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ กองทุนถังออกซิเจน กองทุนในการสร้างซ่อมแซมบ้านให้กับครัวเรือนยากจน ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ การขับเคลื่อนโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข (หมู่บ้านพัฒนายั่งยืน Sustainable Vilage ) อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ บรรลุเป้าหมายทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ประชาชนสุขมากขึ้น ทุกข์น้อยลง ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงามให้คงอยู่สืบไป
                    นายนพ พงศ์ผลาดิสัย รอง ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ประเพณีท้องถิ่นในแต่ละเดือนมีความสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของชุมชน เป็น “วิถีชุมชน” ที่บรรพบุรุษแต่โบราณได้จัดบุญประเพณีต่างๆ ขึ้นในแต่ละเดือน เปรียบเสมือนการวางกุศโลบายให้หมู่บ้าน/ชุมชนมีความเสียสละ เกิดความรัก ความสามัคคีปรองดอง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และมีความร่วมมือในชุมชนที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ พวกเราทุกคนต้องอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามนี้ไว้ให้เป็นมรดกของลูกหลาน สืบไป ความสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การจัดงานประเพณีบุญข้าวจี่มหัศจรรย์ของดีโพธิ์ศรีสุวรรณ นี้ นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชุมชนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP สินค้าเกษตรและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ในพื้นที่ ซึ่ง อ.โพธิ์ศรีสุวรรณมีต้นทุนทรัพยากรทางธรรมชาติที่งดงาม ไม่ว่าจะเป็นลำห้วยทับทัน โดยเฉพาะป่าชุมชนโนนใหญ่ที่มีประวัติศาสตร์ที่ควรแก่การอนุรักษ์ศึกษา ทั้งหมดนี้จะเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน สร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อให้ชาว อ.โพธิ์ศรีสุวรรณให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!