เพชรบุรี-สิ้นแล้ว..!!”สามารถ ม่วงไหมทอง”อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานคนแรก

เพชรบุรี-สิ้นแล้ว..!!”สามารถ ม่วงไหมทอง”อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานคนแรก

ภาพ-ข่าว:สุรพล นาคนคร

            ผู้สื่อข่าวประจำจ.เพชรบุรี ได้รับรายงานว่า นายสามารถ ม่วงไหมทอง อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เสียชีวิตลงแล้วภายในบ้านพักของตนเอง ที่จ.เพชรบุรี เมื่อช่วงค่ำของวันพุธที่ 18 มกราคม 2566 ซึ่งภรรยาและบุตรกำหนดพิธีรดน้ำศพ เวลา 16.00 น.วันพฤหัสฯที่ 19 ม.ค.2566 และสวดพระอภิธรรมระหว่างเวลา 19.30 น.ระหว่างวันที่ 19-23 ม.ค.2566 ประชุมเพลิงวันที่ 24 ม.ค.2566 ณ วัดโพธาวาส อ.เมือง จ.เพชรบุรี

            สำหรับประวัติ นายสามารถ ม่วงไหมทอง อายุ 78 ปี เริ่มรับราชการในกรมป่าไม้ และเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เป็นคนแรก และเป็นคนสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้นเพื่อเสนอจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ดังนี้

          เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จแปรพระราชฐานที่พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเสด็จที่เขื่อนแก่งกระจาน ได้รับสั่งให้นายถนอม เปรมรัศมี อธิบดีกรมป่าไม้ เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2522 ได้มีกระแสพระราชดำรัสว่า เรื่องป่าต้นน้ำ ลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี ขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลรักษาอย่าให้มีการลักลอบตัดไม้ ถางป่า ทำไร่ในป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี เพราะจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง แม้จะได้มีการให้สัมปทานป่าแปลงนี้ไปบ้างแล้ว ก็ขอให้ เจ้าหน้าที่ตรวจดูแลการทำไม้ อย่าให้เป็นการทำลายป่าเกิดขึ้น จากพระราชดำรัสดังกล่าวประกอบกับนโยบายของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2522 ที่ให้รักษาป่าไว้โดยการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ
            กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 452/2523 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2523 ให้นายสามารถ ม่วงไหมทอง นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้นบริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารแม่น้ำเพชรบุรีเหนือเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตามหนังสือรายงานการสำรวจ ด่วนที่สุด ที่ กส 0708/จช. 67 ลงวันที่ 15 เมษายน 2523 รายงานว่า บริเวณป่าดังกล่าวเป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี เป็นภูเขาสลับซับซ้อน สภาพป่าสมบูรณ์ มีทิวทัศน์สวยงาม ประกอบด้วยน้ำตก ถ้ำ หน้าผา ทะเลสาบ พันธุ์ไม้มีค่านานาชนิด เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าต่างๆ เช่น เลียงผา วัวแดง กระทิง นก ปลาต่างๆ และช้างป่า ซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและศึกษาความรู้ด้านต่างๆ ทั้งเป็นการรักษาสภาพป่าให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติถาวรสืบไปดังพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติการประชุมครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินบริเวณพื้นที่ป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ในท้องที่ตำบลน้ำกลัดเหนือ กิ่งอำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอเขาย้อย และตำบลสองพี่น้อง ตำบลแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ครอบคลุมเนื้อที่ 1,548,750 ไร่ หรือ 2,478 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 92 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2524 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 28 ของประเทศ
ต่อมาคณะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ของอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีหนังสือลงวันที่ 17 ตุลาคม 2525 ถึงนายชวน หลีกภัย

                รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้อนุรักษ์ป่าห้วยแร่ห้วยไคร้ ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย กรมป่าไม้ จึงให้ นายสามารถ ม่วงไหมทอง ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และนายรุ่งโรจน์ อังกุรทิพากร เจ้าพนักงานป่าไม้ 2 สำรวจหาข้อมูลเบื้องต้น ปรากฏว่า ในบริเวณดังกล่าวมีสภาพป่าสมบูรณ์ดี มีทิวทัศน์สวยงาม มีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก ถ้ำ หน้าผา ลานหิน และมีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่ โดยมีอาณาเขตติดต่อกับเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตามหนังสือรายงานผลการสำรวจ ที่ กส 0713(กจ) /78 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2526 เห็นควรให้ขยายเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานออกไปครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าว
               กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ต่อมาได้มีมติการประชุมครั้งที่ 1/2527 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2527 ให้ขยายเขตอุทยานแห่งชาติให้ครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ ในท้องที่ตำบลแก่งกระจาน ตำบลสองพี่น้อง ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี และตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมเนื้อที่ 273,125 ไร่ หรือ 437.00 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 101 ตอนที่ 194 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2527 รวมเนื้อที่ 1,821,875 ไร่ หรือ 2,915 ตารางกิโลเมตร

           อนุสรณ์จารึกความทรงจำในการทำงานของหัวหน้าสามารถ ม่วงไหมทอง อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สิ่งหนึ่งก็คือ ปูม่วงไหมทอง และการขึ้นทะเบียน กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ปูม่วงไหมทอง ( Moung mai tong crab) ข้อมูลจาก อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ระบุไว้ว่า ถูกพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2533 บริเวณต้นแม่น้ำปราณบุรี (กม.18) ตำบลสองพี่น้อง กิ่ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยในปี 2536 นายสุทัศน์ ทรัพย์ภู่ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ส่งตัวอย่างปูไปให้ ศจ.ไพบูลย์ นัยเนตร ดูท่านระบุว่าปูดังกล่าวสีไม่เหมือนปูป่า ทั่วไป เป็นสายพันธ์ใหม่มีสีสันสวยสดใส จึงตั้งชื่อว่า ปูม่วงไหมทอง โดยใช้นามสกุลของ นายสามารถ ม่วงไหมทอง ซึ่งเป็นคนแรก ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มาเป็นชื่อปู เพื่อเป็นเกียรติแก่นายสามารถ ทั้งนี้พบว่าปูม่วงไหมทอง เป็นปูป่า ชนิดหายาก พบได้ที่เดียวในประเทศไทย ในบริเวณตอนใต้ ของ อช.แก่งกระจาน คือ หน่วยสะตือ น้ำตกป่าละอู และบ้านกร่างแค้มป์
             นายสามารถ ม่วงไหมทอง อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานคนแรก และเป็นหัวหน้าทีมชุดสำรวจและจัดตั้งพื้นที่บริเวณดังกล่าวขึ้นเป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อปี พ.ศ.2524 ได้แสดงความยินดีจนน้ำตาไหลคลอเบ้า ขณะเผยความรู้สึกที่ทราบว่า อช.แก่งกระจานได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกแล้ว “ก็ดีใจ น้ำตาไหล แฟนเล่าให้ฟัง น้ำตาไหล ทุ่มเทเวลามาเยอะ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เกิดมาจากพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ท่านทรงเรือใบมาขึ้นที่ค่ายพระรามหก อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และทรงมีรับสั่งให้รักษาป่าต้นน้ำผืนนี้ไว้ ผมยังจำได้ พื้นที่จรดชายแดนประเทศพม่า แรกๆผมเป็นคนเดินสำรวจด้วยตัวเอง น้ำตกกี่แห่งๆ รู้หมด ผาน้ำหยด น้ำตกปราณบุรี น้ำตกทอทิพย์ เขาปะการังที่ยอดเขาเหมือนปะการัง จึงตั้งชื่อว่า เขาปะการัง ความหลากหลายนั้นพร้อม อยู่ที่อช.แก่งกระจานมา 18 ปี

              นายสามารถ กล่าวว่า วันนี้สำเร็จแล้วในการเป็นมรดกโลก สิ่งที่ห่วงใยคือ เป็นห่วงสถานที่สำคัญๆ หลายแห่ง อยากให้รักษาไว้ เช่น เกาะพลับพลา ยังจำเกาะได้ มันเหมือนกับเป็นชายหาดน้ำจืด ซึ่งอยู่ในเขื่อนแก่งกระจาน ทรงมาประทับอยู่หลายครั้ง ตอนนั้นสร้างอาคารไว้หนึ่งหลัง มีระเบียง แล้วก็มีการสร้างพลับพลาที่ประทับ ที่สมเด็จพระเทพฯเคยเสด็จประทับ เคยร่วมถวายการต้อนรับหลายครั้ง รวมทั้งเมื่อครั้งที่เสด็จซับชุมเห็ด ทรงประทับค้างแรมที่นั่น ทรงรับสั่งถามว่า หน่อไม้ทานได้ไหม ยังจำได้
              “ต้องขอขอบคุณ ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ช่วยกันมาตลอด จากนี้จะต้องช่วยกันดูแลรักษามากขึ้น เราต้องทำงานหนักกว่าเดิม เพราะกว่าจะได้เป็นมรดกโลกว่ายากแล้ว การรักษาไว้ยิ่งยากกว่า พวกเราคนไทยทุกคนต้องร่วมมือกันดูแล ปกป้องและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของผืนป่าแห่งนี้ไว้ชั่วลูกหลานสืบต่อไป”อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าว

              “อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เกิดมาจากพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ท่านทรงเรือใบมาขึ้นที่ค่ายพระรามหก อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และทรงมีรับสั่งให้รักษาป่าต้นน้ำผืนนี้ไว้ ผมยังจำได้ พื้นที่จรดชายแดนประเทศพม่า แรกๆ ผมเป็นคนเดินสำรวจด้วยตัวเอง น้ำตกกี่แห่งๆ รู้หมด ผาน้ำหยด น้ำตกปราณบุรี น้ำตกทอทิพย์ เขาปะการังที่ยอดเขาเหมือนปะการัง จึงตั้งชื่อว่า เขาปะการัง ความหลากหลายนั้นพร้อม อยู่ที่อช.แก่งกระจาน มา 18 ปี วันนี้สำเร็จแล้วในการเป็นมรดกโลก”

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!