ประชาธิปัตย์กับการกระจายอำนาจ ; จังหวัดจัดการตนเอง

ประชาธิปัตย์กับการกระจายอำนาจ ; จังหวัดจัดการตนเอง

ภาพ-ข่าว:นายหัวไทร

               ถ้าย้อนกลับไปพิจารณาเจตนารมณ์ อุดมการณ์ ตั้งแต่ต้นของพรรคประชาธิปัตย์ โดย “ควง อภัยวงค์” ผู้ก่อตั้งพรรค จะพบเจตนารมณ์ 10 ข้อ ที่ประกาศต่อสาธารณะ และถือเป็นเจตนารมณ์-อุดมการณ์ ที่ยังทันสมัย และใช้ได้ หนึ่งในนั้น คือเรื่องการกระจายอำนาจ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหาร จัดการในระดับพื้นที่ที่เล็กลงไป โดยยึดถือหลักว่า คนในพื้นที่คือคนที่รู้ปัญหา รู้ความต้องการของประชาชนมากที่สุด รู้ว่าในแต่ละพื้นที่มีทรัพยากรธรรมชาติอะไรที่จะมาบริหารจัดการ ให้บริการสาธารณะอย่างไร

              แต่เจตนารมณ์-อุดมการณ์ ประชาธิปัตย์ เดินผ่านช่วงเวลามาร่วม 70 ปี บางอย่างสำเร็จแล้ว บางอย่างอยู่ระหว่างการผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และยังจะเดินหน้าให้เกิดการกระจายอำนาจเกิดขึ้นอย่างแท้จริง แต่ปัญหาใหญ่คือ “ห่วงอำนาจ” รัฐบาลกลางยังไม่จริงจัง จริงใจกับการกนะจายอำนาจ เพราะกลับ “สูญเสียอำนาจ” โดยเฉพาะกระทรวงใหม่ สายอำมาตย์ อย่างกระทรวงมหาดไทย ยังกวดอำนาจไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมปล่อย

             นี้คืออุปสรรคใหญ่ของการกระจายอำนาจ ในยุคที่ “นิพนธ์ บุญญามณี” เข้าไปนั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย และถือว่าเป็นผู้รู้เรื่องกระจายอำนาจ รู้เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นมากที่สุดคนหนึ่ง ก็ยังถูกกีดกันไม่ให้กำกับ-ดูแล กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐมนตรีว่าการฯกอดอำนาจไว้แน่น ผลักให้นิพนธ์ไปดูกรมที่ดิน กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย แต่คำว่านักการเมือง ไม่ว่าอยู่ตรงไหนก็สามารถคิดงานคิดการขึ้นมาได้ “นิพนธ์”จึงเป็นที่ยอมรับในผลงานในช่วงสามปีกว่าๆ ในกระทรวงมหาดไทย

           หากย้อนกลับไปดูเรื่องการ กระจายอำนาจจะพบผลงานมากมายของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จากเดิมที่บริหาร-ดูแล โดยกำนัน เป็นนายกฯอบต.โดยตำแหน่ง ทำงานทั้งการพัฒนา และความสงบเรียบร้อย แม้ช่วงแรกๆจะมีอุปสรรค มีปัญหา มีข้อครหา แต่เวลาผ่านพ้นไป จะเป็นบทพิสูจน์ และกลั่นกรองคนเข้าสู่ระบบผ่านการเลือกตั้ง วันนี้ อบต.เริ่มก้าวข้ามคำว่า ผู้บริหารมาจากผู้รับเหมา มาจากผู้มีอิทธิพล เริ่มมีคนรุ่นใหม่ มีการศึกษาสูง กลับบ้านไปรับใช้บ้านเกิดมากขึ้น เกิดโครงการ เกิดนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมากมาย แต่คำว่า อบต.ก็ยังต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนต่อไปอีกมาก เพื่อก้าวผ่านข้อครหา “กินหัวคิว-กินเปอร์เซนต์”ไปให้ได้ แล้วเราจะเห็นแสงสว่างสดใสมากขึ้น รัฐบาลเองก็มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนให้องค์กรท้องถิ่นเข้มแข็ง

             การยกฐานะสุขาภิบาลมาเป็นเทศบาลทั่วประเทศ การให้นายกฯอบจ.มาจากการเลือกตั้ง โดยตรงของประชาชน แทนที่จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสวมหมวกสองใบ หรือให้สมาชิกซาวเสียงกันเองเลือกนายกฯ อบจ.

             ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็เป็นผลงานการผลักดันของพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยการยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ที่กำหนดให้ผู้ว่าฯต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีสภาฯกทม.(สก.) เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีสมาชิกสภาเขต (สข.)เป็นที่ปรึกษาของ ผอ.เขต ผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯมาแล้วหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” หรือ มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร แม้การเลือกตั้งครั้งล่าสุด ประชาธิปัตย์ โดย ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จะพ่ายให้กับ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” แต่คะแนนก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไร ไล่มาอยู่ลำดับ 2

            ถามว่าการจายอำนาจจะเดินไปถึงจุดไหน พรรคการเมืองบางพรรค อย่างพรรคก้าวไกล เสนอแบบสุดขั้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ยกเลิกนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคด้วย พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยเสนอเป็นนโยบายให้เลือกตั้งผู้ว่าราชจังหวัดทุกจังหวัดในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่มาคราวนี้น่าจะเสนอในรูปแบบของ “จังหวัดจัดการตนเอง” จังหวัดไหนพร้อมก็ยกฐานะขึ้นมา เช่น ภูเก็ต-เมืองท่องเที่ยว เหมือนกับพัทยา และเชียงใหม่-น่าน สมุทรปราการ เมืองอุตสาหกรรม-เมืองการบิน ระยอง-เมืองอุตสาหกรรม-ท่องเที่ยว เหล่านี้เป็นต้น เป็นการทดลองการจัดการตนเอง อันเป็นแนวคิดค่อยเป็นค่อยไป

          การเลือกตั้งครั้งปี 2562 พรรคภูมิใจไทย เสนอแนวคิด “ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน” ก็ยังแค่เสนอให้ลดจำนวนกระทรวง ทบวง กรม ลง ส่วนเพิ่มอำนาจประชาชนจะทำอย่างไร ยังอธิบายไม่ชัด ก้าวไกลเสนอเลือกตั้งนายกจังหวัด (26 พ.ย. 65) เพื่อไทยเสนอเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในทุกจังหวัดที่พร้อม (6 ธ.ค. 65) รูปธรรมกว่านั้นคือ ในปี 2570 เพื่อไทยตั้งเป้ากระจายอำนาจจากโรงพยาบาลของรัฐไปยังท้องถิ่นในรูปแบบองค์การมหาชน หรือกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการ ส่วนก้าวไกลมีนโยบายจัดทำประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และภายใน 4 ปีจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่ส่วนกลางต้องแบ่งสรรให้ท้องถิ่นจากไม่เกิน 30% เป็นไม่น้อยกว่า 35% เป็นต้น น่าเสียดายพรรคพลังท้องถิ่นไทย มี ส.ส.ในสภา มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านการเมืองท้องถิ่น มี ส.ส.ที่มาจากการเมืองท้องถิ่น แต่ไม่ได้ขับเคลื่อนจริงจังกับการกระจายอำนาจ

           นึกย้อนไปในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 13 กันยายน 2535 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ตอนนั้นมีอย่างน้อย 4 พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่มีความพร้อม ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์, พรรคพลังธรรม, พรรคความหวังใหม่ และพรรคเอกภาพ ส่วนหนึ่งเสนอในเชิงยุทธการวิธีหาเสียง เพราะเชื่อว่าประชาชนจะให้การสนับสนุน ทว่า เมื่อทั้ง 4 พรรคมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมแล้ว นโยบายนี้ก็หายไปจากนโยบายของรัฐบาล โดยพรรคแกนนำอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคความหวังใหม่เห็นว่านั่นเป็นเพียงนโยบายพรรคการเมือง ไม่ใช่นโยบายรัฐบาล

           อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งท้องถิ่นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่ช่วงปลายปี 2563 มาจนถึงกลางปี 2565 ไล่ตั้งแต่ อบจ. เทศบาล อบต. มาจนถึงเมืองพัทยา และ กทม. ผู้บริหารท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปไม่สามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ โดยเฉพาะในเชิงของการพัฒนาพื้นที่ได้ ใช่ว่าผู้บริหารท้องถิ่นเหล่านี้ไม่มีศักยภาพ แต่เป็นเพราะบทบาทอำนาจท้องถิ่นมีจำกัด งานสำคัญๆ ยังคงถูกรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง แม้แต่ กทม.เองที่ได้ชื่อว่าเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษก็ยังทำอะไรได้น้อยมากเมื่อเทียบกับเมืองหลวงของประเทศอื่น ถ้าเห็นว่าประชาชนเริ่มตระหนักและเข้าใจถึงปัญหากันมากขึ้น การกระจายอำนาจกลายเป็นประเด็นที่ขายได้ และมีคนพร้อมซื้อ พรรคการเมืองจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแสดงท่าทีของตนออกมา ซึ่งต้องตรงไปตรงมากว่าการเลือกตั้งหนก่อน

            ในการเลือกตั้งปี 2562 ประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจยังไม่ใช่วาระสำคัญเท่าที่ควรเป็น แม้หลายพรรคก็เขียนถึงนโยบายกระจายอำนาจ แต่ในสายตาสื่อหลักยังมองไม่เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ (เทียบเท่าปัญหาอื่น โดยเฉพาะเรื่องปากท้องที่เป็นนโยบายเศรษฐกิจ) มันจึงถูกทำให้หายไปดื้อๆก

            การกระจายอำนาจ (ถ่ายโอนภารกิจ)ถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบและขั้นตอนในการกระจายอำนาจ ชัดเจนว่า ต้องถ่ายโอนภารกิจอะไรจากส่วนกลางไปยังท้องถิ่นบ้าง 245 ภารกิจ แต่จนถึงทุกวันนี้ 245 ภารกิจยังถ่ายโอนไม่แล้วเสร็จ อันเกิดจากการ “หวงอำนาจ”ของรัฐบาลกลาง บางหน่วยงานถูกยกระดับ เปลี่ยนชื่อเพียงเพื่อหลีกเลี่ยงการถ่ายโอนรัฐบาล หรือพรรคการเมือง ควรมีนโยบายเกี่ยวกับการกนะจายอำนาจให้ชัดเจน 1. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางตรงของประชาชน ในกระบวนการนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ 2.ส่งเสริมให้มีการลดบทบาทราชการส่วนภูมิภาคลง เพิ่มบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3. ลดระบบราชการส่วนกลางให้มีขนาดเล็กลง เพิ่มกำลังคน งบประมาณ เครื่องไม้เครื่องมือไปยังท้องถิ่น 4. คืนอำนาจการจัดการตนเองให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการกันเอง 5. ผลักดันกฎหมายเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกระดับ

          ถ้าพรรคไหนยังหวังการสนับสนุนจากข้าราชการส่วนกลาง/ส่วนภูมิภาค/ส่วนท้องถิ่น คงไม่กล้าหาเสียงเช่นนี้แน่ เพราะจากข้อมูลปี 2563 มีข้าราชการสังกัดหน่วยบริหารราชการส่วนกลางจำนวน 815,680 คน คิดแล้วเกือบร้อยละ 60 ในบรรดาข้าราชการพลเรือนทั้งหมด มีข้าราชการสังกัดหน่วยบริหารราชการส่วนภูมิภาคจำนวน 295,312 คน (21.69%) ขณะที่ข้าราชการสังกัดหน่วยบริหารราชการส่วนท้องถิ่นมีจำนวนเพียง 250,670 คน (18.41%) มีกำนัน 7,036 คน ผู้ใหญ่บ้าน 67,619 คน แพทย์ประจำตำบล 7,036 คน สารวัตรกำนัน 14,072 คน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 194,491 คน

          แต่ความเป็นพรรคการเมืองต้องมีความกล้าพอที่จะเสนอความแตกต่าง และเป็นไปได้ แตพรรคการเมืองโดยส่วนมากมักเสนอคล้ายกัน หลักๆ ไม่พ้นนโยบายการเพิ่มงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนโยบายการถ่ายโอนภารกิจ/บุคลากรไปให้ท้องถิ่น

          นโยบายที่ฉีกออกไป เช่น พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้จัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง, พรรคภูมิใจไทยชูบุรีรัมย์โมเดลเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองทั่วประเทศ, เพื่อไทยเรียกร้องให้เปลี่ยนบทบาทภาครัฐจากผู้ปฏิบัติ-ควบคุมมาสนับสนุน และอำนวยความสะดวก

           การกระจายอำนาจจะเป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคการเมืองจะต้องนำมาชูในการเลือกตั้งครั้งหน้า อยู่ที่ว่าใครจะกล้าหาญพอ เสนอสิ่งที่แตกต่าง เป็นไปได้ มานำเสนอ และจะได้รับเสียงตอบรับที่ดี แต่เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าเรื่องกระจายอำนาจ จะเป็นเพียงนโยบายรองในการหาเสียง นโยบายหลัก คงเน้นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง ลดความเหลื่อมล้ำเป็นหลัก

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!