นครสวรรค์-ขับเคลื่อน “Mindful Campus” และแนวทางจิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล

นครสวรรค์-ขับเคลื่อน “Mindful Campus” และแนวทางจิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล

ภาพ-ข่าว:ชาติชาย เกียรติพิริยะ

               เทศบาลนคร พร้อมผู้แทนภาคส่วน ร่วมขับเคลื่อน Mindful Campus และแนวทางจิตตปัญญาศึกษา ม.มหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ พัฒนาสังคม พัฒนาจิตใจ พัฒนาการศึกษา พัฒนาเด็ก คุณครู “สอนคน” ควบคู่ “สอนหนังสือ”
              เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 ธ.ค. 65 ที่ห้องประชุมนิภาธรรมวงศ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์(เขาทอง) นายจตุรวิทย์ นิโรจน์ธนรัฐ รองนายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ พร้อมด้วย นายเจนวิทย์ ปะเมโท ผู้อำนวยการสำนักศึกษา เทศบาลนครนครสวรรค์ นายยุทธภูมิ ดีแจ้ง ร.ร.เทศบาลวัดวรนาถบรรพต และนางสาวเยาวรักษ์ สุปิยะพาณิชย์ ร.ร.เทศบาลวัดไทรใต้ ครูผู้รับผิดชอบโครงการ จิตตปัญญาศึกษา ร่วมในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการขับเคลื่อน Mindful Campus ครั้งที่ 2/2565
             ในการประชุมยังมีการเชิญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการศึกษา การสาธารณสุข สังคม ผู้บริหารและผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ทั้ง คณะอาจารย์สถานศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ ผู้บริหารท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ และศูนย์จิตตปัญญา เพื่อร่วมนำเสนอ รับทราบแนวทาง หารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อน Mindful Campus
             โดยมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ ดำเนินโครงการ Mindful Campus ที่มีภาพอุดมคติที่คาดหวัง คือ การเกิดพื้นที่แห่งการนำเอาสติและความตื่นรู้ เป็นแกนกลางของการจัดการเรียนการสอน การบริการสุขภาพ การทำงานขับเคลื่อนสังคม และการพัฒนาองค์กร เกิดเป็นพื้นที่ของความเป็นมนุษย์ มีความเมตตา การให้และแบ่งปัน เป็นแกนกลาง ทั้งในพื้นที่วิทยาเขตและขยายสู่สังคมและองค์กรโดยรอบ ซึ่งพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์มีต้นทุนในหลายส่วน ทั้งภาคประชาสังคม วัฒนธรรม การศึกษา
             ซึ่งแนวทางส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา การดำเนินโครงการ Mindful Campus คือ การนำแนวทาง“จิตตปัญญาศึกษา” มาประยุกต์ใช้ โดยที่ผ่านมาเทศบาลนครนครสวรรค์ได้เริ่มต้นนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครนครสวรรค์ โดย “จิตตปัญญาศึกษา” เป็นการศึกษาที่เน้นการพัฒนาจากภายใน เพื่อให้เกิดสติ หรือความตื่นรู้ ที่จะเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้และเผชิญกับโลก ที่จะนำมาซึ่งความถูกต้อง และเกิดผลที่สร้างความสุขเย็นให้กับตนเองและสังคมรอบข้าง
            เป็นการศึกษาที่เน้นการเติบโตจากภายในสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ในทางปฎิบัติคือ คุณครูจะรับฟังเด็กเป็นอย่างมาก เพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ เปิดโอกาสให้เด็กให้พูดคุย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กกลุ่มเสี่ยง เด็กหลังห้อง เด็กด้อยโอกาส เพื่อนำไปสู่การรับทราบปัญหา ข้อจำกัดอย่างแท้จริง และนำไปสู่การให้โอกาสเด็ก การช่วยเหลืออย่างตรงจุดและจริงจัง อีกทั้งมุ่งเน้นให้ คุณครู เป็นผู้ “สอนคน” ควบคู่กับการ “สอนหนังสือ”

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!