ประจวบคีรีขันธ์ – เกษตรสามร้อยยอด ถ่ายทอดการผลิตปุ๋ยหมักและวัตถุดิบจากเปลือกมะพร้าว

ประจวบคีรีขันธ์ – เกษตรสามร้อยยอด ถ่ายทอดการผลิตปุ๋ยหมักและวัตถุดิบจากเปลือกมะพร้าว

 ช่วยลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต

ภาพ-ข่าว:กูลเสวก เสวกวรรณกร

              เมื่อวันที่ 25 พ.ย.นายนพดล เบ็ญจกุล เกษตรอำเภอสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเกษตรอำเภอสามร้อยยอด มุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร ตามแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตรด้วย BCG Model ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมพัฒนาตามความต้องการของพื้นที่ บูรณาการการดำเนินงานและงบประมาณกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
             โดยมุ่งเน้นต่อยอดจากกลุ่มเกษตรที่มีอยู่แล้ว เช่น กลุ่มแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ให้เกิดผลสำเร็จที่ชัดเจนต่อเกษตรกรและชุมชน สร้างรายได้ กระจายผลประโยชน์ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งตัวอย่างกลุ่มวิสาหกิจที่มีการดำเนินการขยายผลนำนวัตกรรมเกษตรสู่ใช้ประโยชน์เศษเหลือจากมะพร้าว ของวิสาหกิจชุมชนปั้มน้ำมันชุมชนบ้านหัวตาลแถว ม.5 ต.สามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์
             นายฉัตรชัย ชาโรจน์ กรรมการวิสาหกิจชุมชนปั๊มน้ำมันชุมชนบ้านหัวตาลแถว และประธานกลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวสามร้อยยอด ม. 5 ต.สามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนปั๊มน้ำมันชุมชนบ้านหัวตาลแถว ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากสำนักงานเกษตรอำเภอสามร้อยยอด ในการใช้ประโยชน์จากเปลือกมะพร้าวซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG model โดยมีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกมะพร้าวสับ ซึ่งการใช้วัตถุดิบกาบมะพร้าว 1 ตัน ผสมมูลสัตว์ ประมาณ 200 กิโลกรัม เรียงสลับเป็นชั้นๆ เติมปุ๋ยยูเรีย และสารเร่ง พด.1 ช่วยในการเร่งให้ย่อยสลายเป็นปุ๋ยหมักได้เร็วขึ้น รวมถึงเติมอากาศในกองด้วยการกลับกองทุก 10 วัน และได้รับการสนับสนุนเครื่องสับย่อยเปลือกมะพร้าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งตามปกติเกษตรกรมักจะเผาทิ้งก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ และยังเป็นแนวทางในการลดต้นทุน และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ในการใช้เปลือกมะพร้าวเป็นส่วนผสมในการทำปุ๋ยหมัก ปัจจุบันเป็นสินค้าเปลือกมะพร้าวสับ เป็นวัสดุปลูก ที่จำหน่ายของวิสาหกิจชุมชน ช่วยสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่งจากธุรกิจหลัก คือ ปั๊มน้ำมัน และร้านค้าชุมชน ช่วยสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง ซึ่งในอนาคตตั้งเป้าหมายว่าจะต่อยอดร่วมกับกลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวสามร้อยยอด ในการเพิ่มมูลค่าเป็นดินปลูกบรรจุถุงจำหน่าย ถือเป็นการขยายผลการดำเนินการตามแนวคิด BCG model ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญ
              นายประสาร ยอดยิ่ง เหรัญญิก วิสาหกิจชุมชนปั๊มน้ำมันชุมชนบ้านหัวตาลแถว กล่าวว่า การผลิตปุ๋ยหมักในช่วงแรกมีเกษตรกรในพื้นที่ให้เปลือกมะพร้าวแก่วิสาหกิจฟรีเพื่อใช้ในกระบวนการผลิต แต่ในอนาคตจะรับซื้อเปลือกมะพร้าวจากสมาชิก และทุกกระบวนการจะมีการจ้างงานคนในพื้นที่ด้วย ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากการทำการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลัก ซึ่งปุ๋ยหมักที่ผลิตได้นี้จะประสานไปยังหน่วยงานภาครัฐให้ช่วยมาตรวจสอบคุณภาพเพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ จุดเด่นของปุ๋ยหมักนี้ คือ ใช้วัตถุดิบทำปุ๋ยจากเศษเหลือเปลือกมะพร้าวที่มีเยอะในพื้นที่ ส่วนเครื่องสับเปลือกมะพร้าวที่ได้รับการสนับสนุนจาก ธกส. สามารถสับมะพร้าวได้ 3 ระดับ คือเป็นลูกเต๋าขนาด 1 นิ้ว สับละเอียด และสับเป็นขุยมะพร้าว ซึ่งการทำปุ๋ยหมักจะใช้แบบสับละเอียด และขุยมะพร้าว ส่วนมะพร้าวสับขนาด 1 นิ้ว สามารถบรรจุถุงจำหน่ายได้เลย เน้นไม่จำหน่ายแพงเพื่อส่งเสริมให้สมาชิกไปใช้กันเองเพื่อเกิดรายได้ให้กับชุมชน แต่ขณะนี้ก็มีการจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจทั่วไปบ้างแล้ว และวัตถุดิบในพื้นที่มีมากเพียงพอต่อการผลิต
              ด้าน นางสาวเบญจพร ตั้งวิชัย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอสามร้อยยอด กล่าวเพิ่มเติมถึงการใช้ประโยชน์จากเปลือกมะพร้าวเศษเหลือในพื้นที่ ในการสร้างมูลค่าเป็นวัสดุปลูกทำกาบมะพร้าวสับอย่างความโดดเด่นด้วยการสกัดสารแทนนิน และเติมเชื้อไตโครเดอร์ม่าช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อราในพืช การใช้เป็นวัตถุดิบผลิตปุ๋ยหมักปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนวัสดุที่ต้องซื้อมาผลิตทำปุ๋ย รวมถึงต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ดินปลูกพืช ภายใต้แบรนด์ของกลุ่ม เชื่อมโยงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปั้มน้ำมันชุมชน บ้านหัวตาลแถว และกลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวสามร้อยยอด ม.5 ต.สามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด เป็นการลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษเหลือในพื้นที่อย่างคุ้มค่า ช่วยลดปริมาณของเสียในกระบวนผลิตให้เป็นศูนย์ (Zero waste) พัฒนาชุมชนให้มีความมั่นคงด้านรายได้ และอาชีพอย่างยั่งยืน

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!