ศรีสะเกษ-ชลประทานฯ ห่วงใยเกษตรกรเร่งบริหารจัดการน้ำเขื่อนราษีไศล

ศรีสะเกษ-ชลประทานฯ ห่วงใยเกษตรกรเร่งบริหารจัดการน้ำเขื่อนราษีไศล

ภาพ-ข่าว:ศิริเกษ หมายสุข

            “จำรัส สวนจันทร์” ห่วงใยเกษตรกรเร่งบริหารจัดการน้ำเขื่อนราษีไศล คำนวณปริมาณน้ำเพื่อให้รักษาระดับน้ำต่ำสุดสำหรับให้พื้นที่บริเวณเหนือเขื่อนราษีไศลที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนาข้าว ให้สามารถระบายน้ำออกจากทุ่งนาสู่แม่น้ำมูลได้ และปิดบานระบายเพื่อเพิ่มระดับน้ำมาที่ระดับน้ำ +119.00 เมตร รทก. เพื่อการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง
             เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้รับมอบหมายจาก นายสำรวย เกษกุล รอง ผวจ.รักษาราชการแทน ผวจ.ศรีสะเกษ ให้เดินทางไปเป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการเขื่อนราษีไศล ครั้งที่ 1/2565 เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเขื่อนราษีไศลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีประโยชน์สูงสุดแก่ราษฎรในด้านการบริหารจัดการน้ำ โดยมีสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และคณะอนุกรรมการฯ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
             นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมของคณะอนุกรรมการฯให้รักษาระดับน้ำไว้ที่ ระดับ +119.000 ม.รทก. โดยมีเงื่อนไข 5 ข้อ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ราษฎร ได้แก่ 1. มอบ ชป.มูลล่าง บริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งโดยรักษาระดับน้ำไว้ที่ +119.000 ม.รทก. 2. มอบ ชป.มูลล่าง คำนวณปริมาณน้ำเพื่อให้รักษาระดับน้ำต่ำสุดสำหรับให้พื้นที่บริเวณเหนือเขื่อนราษีไศลที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนาข้าว ให้สามารถระบายน้ำออกจากทุ่งนาสู่แม่น้ำมูลได้ และปิดบานระบายเพื่อเพิ่มระดับน้ำมาที่ระดับน้ำ +119.00 เมตร รทก. เพื่อการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง
             นายจำรัส สวนจันทร์ ผอ.โครงการชลประทานศรีสะเกษ กล่าวต่อไปว่า 3.ให้ราษฎรที่ได้รับผลกระทบด้านเหนือเขื่อนราษีไศลมีส่วนร่วม โดยหากระดับน้ำมาที่ระดับต่ำสุดแล้วให้ปิดช่องทางเพื่อไม่ให้น้ำในแม่น้ำมูลไหลเข้าไปถึงแปลงนาได้ 4.มอบ ชป.มูลล่างในการซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารชลประทาน เครื่องสูบน้ำและผนังกั้นน้ำที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยโดยเฉพาะเครื่องสูบน้ำของสถานีสูบน้ำ RSP22 และ 5.มอบ ชป.มูลล่าง ประสานงานกับ สำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ และสุรินทร์เพื่อช่วยเหลือด้านเครื่องสูบน้ำในการสูบน้ำจากแปลงนา กรณีมีน้ำท่วมขังในพื้นที่นาของราษฎร เพื่อจะได้ป้องกันไม่ให้ที่นาของราษฏรได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมขัง
               ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้ประชุมวางแผนการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2565/2566 โดยมีนายกรฤต มีเกิดมูล หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 นายสมนึก ช่วยงาน หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 นายวัชเรนทร์ แววดี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 6 นายสราวุฒิ แน่นหนา หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 6 ผู้แทนหัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 5 และเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำ เข้าร่วมประชุม
               นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อร่วมกีนวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง เช่น ด้านการจัดสรรน้ำการเกษตร ด้านการประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ ในกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมจากภาคส่วนได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนปัญหาต่างๆ และได้ร่วมกันเสนอแนะการแก้ไขปัญหาการส่งน้ำและการซ่อมแซมรักษาระบบคลองส่งน้ำ ทั้งนี้ เพื่อให้มีประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชในฤดูแล้งปี 2565/2566 ต่อไป

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!