ปราจีนบุรี -ลงเสาเอก อาคารนวัตกรรมสมุนไพรไทยอภัยภูเบศร ตั้งเป้าวิจัยและพัฒนา รองรับความมั่นคงทางยา

ปราจีนบุรี -ลงเสาเอก อาคารนวัตกรรมสมุนไพรไทยอภัยภูเบศร ตั้งเป้าวิจัยและพัฒนา รองรับความมั่นคงทางยา

ภาพ-ข่าว:มานิตย์ สนับบุญ

             วันนี้ 21 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวจ.ปราจีนบุรี รายงานว่ามูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ฤกษ์ ทำพิธีลงเสาเอกอาคารนวัตกรรมสมุนไพรไทยอภัยภูเบศร เพื่อจัดตั้ง “ศูนย์วิจัยและพัฒนาสมุนไพรเปรม ชินวันทนานนท์” โดยใช้พื้นที่ของมูลนิธิบริเวณด้านหลังโรงพยาบาลฯ เป็นสถานที่ตั้ง

              ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า มูลนิธิฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 แต่ การพัฒนาสมุนไพรได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2526 ตลอด 39 ปี ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าของสมุนไพรให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตั้งแต่วัตถุดิบสมุนไพรที่ส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์จากแปลงปลูกทั่วประเทศ การผลิตที่ได้รับรองมาตรฐานการผลิตชั้นสูงมาตรฐาน GMP PICs และการตลาดที่มีคุณธรรมส่งเสริมความเข้าใจในการใช้สมุนไพรอย่างถูกต้องแก่ผู้บริโภค มุ่งผลิตสินค้าที่มีความปลอดภัยและประสิทธิผลบนฐานองค์ความรู้ในด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร
              โดย มุ่งเน้นให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาและพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ประกอบการ เกษตรกร และผู้สนใจต่อยอดด้านสมุนไพร รวมทั้งการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาโดยตลอดทั้งในด้านการผลิตและผลิตภัณฑ์ เฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันสมุนไพรมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีจำนวนมาก มีผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าสู่ตลาดมากขึ้น เราต้องพัฒนาตัวเองไม่หยุดนิ่ง ไม่เฉพาะการอยู่รอดของธุรกิจ แต่เพื่อให้สมุนไพรไทยยืนหนึ่งในตลาดโลก
               ภญ.ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว จึงถึงเวลาที่มูลนิธิรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จะจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาขึ้นมา โดยใช้ชื่อของ นพ.เปรม ชินวันทนานนท์ ประธานมูลนิธิฯ เนื่องจากท่านมีคุณูปการในฐานะผู้จุดประกายให้มีการพัฒนาสมุนไพรเป็นคนแรก โดย ศูนย์ฯ นี้จะทำหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนางานด้านสมุนไพร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนร่วมกันระหว่างเกษตรกรและเอกชน , วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบสนองความต้องการของประชาชนในเรื่องสุขภาพอย่างครบวงจร , สร้างนวัตกรรมใหม่สู่ตลาด สร้างงาน สร้างโอกาสให้กับกลุ่มเกษตรที่ปลูกสมุนไพร , สร้างความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีและเพิ่มขีดความสามารถของสมุนไพรไทยในการแข่งขันระดับนานาชาติ , ทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก เช่น มหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยภาครัฐและเอกชน ,ร่วมหลักสูตรผลิตนักศึกษามหาวิทยาลัยของภาครัฐ หรือเอกชน ตลอดจนเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงประวัติความเป็นมาในการวิจัยและพัฒนาขององค์กร อาทิ ตำรายาโบราณ เครื่องมือวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
                 “ศูนย์ฯ นี้ จะทำให้เกิดงานด้านสมุนไพรที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง และจะส่งผลกระทบเชิงสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และยังก่อให้เกิดความมั่นคงทางยาและสมุนไพร ในภาวะที่สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ไวรัส เชื้อโรคปรับตัวตลอดเวลา จากวิกฤติโควิดที่ผ่านมา มีการหวนมาใช้สมุนไพรในการรักษากันเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าสมุนไพรไทยคือทางรอดของมวลมนุษยชาติ” ดร.สุภากรณ์ กล่าว

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!