สระบุรี-การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารต้องรู้ทันฉลากสินค้า

สระบุรี-การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารต้องรู้ทันฉลากสินค้า

ภาพ-ข่าว:สมภพ พิมมะศร

           อาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต มนุษย์เราจำเป็นต้องมีการบริโภคอาหารเพื่อการอยู่รอด ซึ่งในสังคมปัจจุบันได้มีการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่มนุษย์ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุเสร็จในบรรจุภัณฑ์ขึ้นมาวางขายตามท้องตลาด เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวก่อนออกสู่มือของผู้บริโภคต้องมีการตรวจสอบความปลอดภัยเพื่อให้เกิดความมั่นใจแก่ผู้บริโภค
            แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีความเสี่ยงที่ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบหรือผลเสียจากผลิตภัณฑ์อาหารที่วางขายตามท้องตลาด ดังตัวอย่างที่ได้เห็นในข่าวที่นำเสนอในปัจจุบัน ดังนั้นผู้บริโภคจึงสามารถป้องกันตนเองได้จากการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความปลอดภัย ซึ่งในการเลือกบริโภคอาหารโดยทั่วไป ผู้บริโภคจะเลือกบริโภคอาหารจากวันที่ผลิต และวันที่หมดอายุของผลิตภัณฑ์เป็นหลัก แต่ทั้งนี้อาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการเสื่อมสภาพของผลิตภัณฑ์ เช่นปัจจัยด้านการขนส่ง หรือการเก็บรักษา
            ดังนั้นนอกจากวันที่ผลิตและวันที่หมดอายุแล้ว ผู้บริโภคจึงควรสังเกตจากภาชนะบรรจุอาหารด้วย ว่าภาชนะนั้นอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์หรือไม่ ซึ่งภาชนะจะต้องไม่บุบ รั่วซึม หรือฉีกขาด และมีความสะอาดไม่มีร่องรอยของการปนเปื้อน และนอกจากนั้นยังต้องสังเกตสภาพของอาหารที่อยู่ภายในภาชนะบรรจุนั้นด้วย กล่าวคืออาหารนั้นจะต้อง ไม่มีเมือก ไม่มีฟอง หรือร่องรอยการเสีย ไม่มีสี และกลิ่นเปลี่ยนไปจากเดิม และการเก็บรักษาอาหารจะต้องถูกเก็บไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสมกับชนิดของอาหาร และจะต้องแยกเก็บกับสารเคมีอันตรายอย่างชัดเจน
             นอกจากนั้นแล้วผู้บริโภคยังสามารถสังเกตได้จากฉลากของอาหาร ซึ่งฉลากอาหารนั้นจะแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคควรทราบ เช่น ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ สรรพคุณ หรือประโยชน์ของอาหาร ขนาดบรรจุ ราคา วิธีใช้หรือวิธีบริโภค คำเตือนเกี่ยวกับอาหาร วิธีการเก็บรักษา วันที่ผลิต วันหมดอายุ หรือวันที่ผลิตภัณฑ์คงมีคุณภาพ และที่สำคัญคือเครื่องหมาย อย. หรือเลขสารบบอาหาร เป็นตัวเลข 13 หลัก ที่เป็นข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้รับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว ซึ่งผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลผลิตภัณฑ์อาหารหรือการขออนุญาตได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา www.fda.moph.go.th
             โดยสามารถค้นหาได้จากเลขสารบบอาหารดังกล่าวและหากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ปลอดภัย ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ที่ ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โทร 0 2590 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ ได้ในเวลาทำการ หรือสายด่วน อย. 1556 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!