ปทุมธานี-คึกคัก..!!เรือดังดีกรีแชมป์ทั่วประเทศ แข่งชิงถ้วยพระราชทานยิ่งใหญ่ที่สุดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ปทุมธานี-คึกคัก..!!เรือดังดีกรีแชมป์ทั่วประเทศ แข่งชิงถ้วยพระราชทานยิ่งใหญ่ที่สุดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ภาพ-ข่าว:อนันต์ วิจิตรประชา

              วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ตำบลบ้านฉาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เตรียมจัดแข่งขันเรือยาวประเพณี ชิงถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี อย่างยิ่งใหญ่ระดมเรือดังดีกรีแชมป์ถ้วยพระราชทานทั่วประเทศ ดวลฝีพายนัดพบกัน 3 -5 ธันวาคมนี้ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าสวนเทพปทุม ทั้งประเภท 30-40-55 ฝีพาย และเรือพื้นบ้าน ชิงเงินรางวัลเกือบรวมเกือบ 2 ล้านบาท
               บรรยากาศการจัดแถลงข่าวโครงการงานแข่งขันเรือยาวประเพณี จังหวัดปทุมธานี โดยมี นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี , พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี , นางกนกพร เดชเดโช นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช และ นายชาญยุทธ เศวตสุวรรณ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าวจัดแข่งขันเรือยาวประเพณีกำหนดระหว่างวันที่ 3-5 ธันวาคม 2565 บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา หน้าสวนเทพปทุม มีทั้งหมด 4 ประเภท คือ เรือ 30 ฝีพาย เรือ 40 ฝีพาย เรือ 55 ฝีพาย และเรือพายม้า 10 ฝีพาย ซึ่งเรือพายม้านั้นเป็นเรือพื้นบ้านที่หายากแล้วในปัจจุบัน สำหรับเรือที่ชนะการแข่งขันในประเภท 30 – 40 -55 ฝีพาย จะได้รับถ้วยพระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนเรือที่ชนะเลิศ เรือพายม้า 10 ฝีพาย จะได้รับถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี นอกจากนั้นยังมีเงินรางวัลให้กับเรือที่ชนะอันดับต่างๆ ทุกประเภทเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,951,000 บาท ภายในการแข่งขันเรือยังมีงานมหกรรม “ตลาดนัดบัวหลวง” ออกร้านสินค้าราคาประหยัดเพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่มาเที่ยวชมการแข่งขันตั้งแต่ 16.30 น.เป็นต้นไป ณ บริเวณลานจอดรถสวนเทพปทุม
                นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร กล่าวว่า วันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีที่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ท่านได้ดึงประเพณีดั้งเดิมกลับมาสร้างความสนุกสนานความเป็นปทุมธานีของเรา นับเป็นงานสำคัญของจังหวัดปทุมธานีอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้คลี่คลายลง รัฐบาลมีนโยบายเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละท้องถิ่นให้ฟื้นตัว การจัดแข่งขันเรือยาวประเพณีก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่เป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลและที่สำคัญจังหวัดปทุมธานีเองก็ถือเป็นเมืองที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำเจ้าพระยาเส้นเลือดใหญ่ของคนภาคกลางไหลผ่านกลางเมืองระหว่างอำเภอเมือง และอำเภอสามโคกซึ่งถือเป็นพื้นที่รับน้ำตลอดมา ในสมัยก่อนนั้นแม่น้ำลำคลองถือว่ามีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการสัญจร การประกอบอาชีพกสิกรรมต่างๆ นอกจากนั้นยังใช้เป็นการสร้างความบันเทิงสนุกสนานในยามว่างเว้นจากการประกอบอาชีพดังนั้นจึงเป็นจุดก่อเกิดวัฒนธรรม ประเพณีทางสายน้ำขึ้น อาทิ การเล่นเพลงเรือเกี้ยวพาราสีกันของชาวบ้านริมน้ำ และการแข่งขันเรือชนิดต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งต่อมาก็มีการจัดแข่งขันที่เป็นรูปแบบและเป็นทางการมากขึ้นจนในปัจจุบันมีการจัดแข่งขันเรือยาวประเพณี และในปีนี้ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี พระราชทานถ้วยรางวัลสำหรับเรือที่ชนะการแข่งขันอีกด้วย การจัดแข่งขันเรือยาวประเพณีชิงถ้วยพระราชทานในครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่านอกจากจะส่งเสริมนโยบายท่องเที่ยวแล้วยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้รู้จักการออกกำลังกายมีความสมัครสมานสามัคคีในแต่ละท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็เป็นการรณรงค์ให้พี่น้องชาวจังหวัดปทุมธานี และประชาชนชาวไทยทุกคนได้ร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณที่ดีงามของไทยสืบไป
                 ด้าน พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ทาง อบจ. ปทุมธานี มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้จัดงานแข่งขันเรือยาวประเพณี ในครั้งนี้ถึงแม้จะใช้งบประมาณมากพอสมควรแต่ก็ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งราชการและเอกชนเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็ถือเป็นการปฏิบัติตามนโยบายที่ได้แถลงต่อสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมาซึ่งกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด 6 ด้านเช่นด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน มุ่งส่งเสริมด้านกีฬาต่างๆ นอกจากนั้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ยังได้ตระหนักและเล็งเห็นคุณค่าของการฟื้นฟูอนุรักษ์ประเพณีการแข่งขัน เรือยาว จึงได้เกิดโครงการดังกล่าว และขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมมมือกัน รวมถึงในวันแข่งขันจะมีการแสดงจากนักเรียนโรงเรียนสามโคก และโรงเรียนวัดป่างิ้ว รวมถึงการจัดขบวนแห่ถ้วยพระราชทานอย่างยิ่งใหญ่ จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนขอให้มาท่องเที่ยว
                  ส่วน นางกนกพร เดชเดโช นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราชสมัยปี 2547 มีแม่น้ำปากพนัง ได้มีการแข่งขันเรือสำหรับพี่น้องในชุมชนจนได้ชื่อ ราชันย์ดำ จากนั้นได้เดินทางไปแข่งขันในหลายจังหวัด เราก็คว้าที่ 1 มาได้ วันนี้ต้องขอบคุณ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ได้เชิญร่วมแถลงข่าวและเชิญมาแข่งขันเรือพาย 55 ฝีพาย โดยเราตั้งใจที่จะมาร่วมการแข่งขัน เมื่อเราคิดดีทำดีความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นแน่
                  ทางด้านนายชาญยุทธ เศวตสุวรรณ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตามนโยบายรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์หลังสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายให้เร่งเน้นด้านการท่องเที่ยวเป็นการนำร่องในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งท่องเที่ยวเชิงทางวัฒนธรรมและเชิงอนุรักษ์อย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็เร่งสนองนโยบายดังกล่าว มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศให้เป็นที่สนใจแก่นักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น และในจังหวัดปทุมธานีมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนเข้ามากกว่า 2,000,000 คน ทำรายได้ให้จังหวัดปทุมธานีกว่า 3,400 ล้านบาทต่อปี มีสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆมากมายที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้และไม่ไกลจากเมืองหลวง ส่วนการจัดแข่งขันเรือยาวประเพณีประจำปีก็ถือเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นด้านท่องเที่ยวอย่างหนึ่งที่สำคัญล้วนเป็นประโยชน์อย่างมากต่อท้องถิ่นชุมชนและโดยรวมของประเทศ ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีความยินดีและพร้อมสนับสนุนเต็มที่ในการจัดงานครั้งนี้
                  ส่วนเรือที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ทางคณะกรรมการ ได้คัดกรองเอาเรือดีเรือดังมีชื่อเสียงทั่วประเทศอดีตดีกรีแชมป์ถ้วยพระราชทานหลายลำใน ประเภท 55 ฝีพายมี 9 ลำ เช่น เรือเทพนรสิงห์ 88 จากสระบุรี เรือเจ้าแม่ประดู่ทอง จากสัตหีบ ชลบุรี เรือพญาชาละวันสิงห์ลีโอ จากพิจิตร เรือศรไชยทัพนาวา เรือราชันย์ดำ จากนครศรีธรรมราช เป็นต้น เรือประเภท 40 ฝีพาย มี 9 ลำ อาทิ เรือพรหลวงพ่อจักร และเรือจักรนารายณ์ จากสระบุรี เรือสิงห์ปทุม จากปทุมธานี เรือเพชรสวนศรีจาก หลังสวน ชุมพร เรือรุ่งสุริยา จากหนองคาย เรือเทพนรสิงห์ จากวัดแสงดาว จังหวัดน่าน เป็นต้น ส่วนเรือประเภท 30 ฝีพายมี 12 ลำ อาทิ เรือสาวน้อยชุติมน จากสิงห์บุรี เรือเทพอัมรินทร์ จากพิษณุโลก เรืออินทณัฐ จากนครปฐม เรือสิงห์อิสาน จากหนองคาย เรือฉัตรชัย จากนครสวรรค์ เรือแม่คำแก้ว จากอุบลราชธานี เรือสาวเมืองนนท์ จากนนทบุรี เป็นต้นและประเภทเรือพายม้า 10 ฝีพาย มี 12 ลำอาทิเพชรน้ำค้าง จาก อบต. บางพูด เรือเจ้าแม่ปทุมทอง เอ-บี จาก ทม.เมืองปทุมธานี เรือเจ้นกกระท้อนซิ่ง จาก อบต.ปทุม สามโคก เรือเพชรแท้ จาก ทต.บางขะแยง เรือลาดหลุมแก้ว จาก อำเภอลาดหลุมแก้ว เรือเทศบาลธัญบุรี จาก ทต.ธัญบุรี เป็นต้น

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!