อุบลราชธานี-รมช. เกษตรฯ ลงพื้นที่ผลักดันโครงการสานฝัน สร้างอาชีพหลังน้ำลด

อุบลราชธานี-รมช. เกษตรฯ ลงพื้นที่ผลักดันโครงการสานฝัน สร้างอาชีพหลังน้ำลด

ภาพ-ข่าว:ศูนย์ข่าวเฉพาะกิจจังหวัดอุบลราชธานี

                วันนี้ ( 19 ต.ค.65 ) เวลา 09.00 น. นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ตรวจเยี่ยมและให้โอวาทเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชนและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจาก “พายุโนรู” พร้อมเป็นสักขีพยานในการมอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน ถุงยังชีพ ปล่อยขบวนหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ พร้อมเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยมีนายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นายวิวัฒน์ ไชยชะอุ่ม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ ปศุสัตว์เขต 3 นายกิตติ กุบแก้ว ปศุสัตว์จังหวัดอุบลราชธานี และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ และอาสาปศุสัตว์ในพื้นที่ให้การต้อนรับ พร้อมด้วย ผู้แทนจากกรมชลประทาน กรมประมง กรมส่งเสริมการเกษตร ส.ป.ก. มกอช. ธกส. ฝ่ายปกครองท้องถิ่น ป.ภ. กระทรวงมหาดไทย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการบูรณาการช่วยเหลือร่วมกัน ณ ศูนย์อพยพบ้านกุดระงุม หมู่ 3 ตำบลบุ่งไหม และ บ้านคูเมือง หมู่ 7 ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
                นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวหลังจากบินขึ้นสำรวจสภาพพื้นที่ทางอากาศ ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในจังหวัดอุบลราชธานี ว่า ได้รับทราบการรายงานสถานการณ์จากส่วนราชการ โดยรัฐบาลมีความห่วงใยต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน เตรียมการรับมือก่อนฝนมา เช่น การจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ การพร่องน้ำของอ่างเก็บน้ำ เพื่อรองรับน้ำล่วงหน้า ตลอดจนการเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงการเตรียมพื้นที่อพยพไว้เป็นการล่วงหน้า ซึ่งแต่ละหน่วยก็ได้ดำเนินการ และเตรียมการอย่างเต็มกำลังความสามารถ แต่เนื่องจากปีนี้เป็นปีที่มีปริมาณฝนตกมาก ประกอบกับพายุ “โนรู” เคลื่อนผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกิดปริมาณน้ำล้นตลิ่ง 2 ฝั่งลำน้ำ เข้าท่วมพื้นที่เกษตรกรรม เกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อน ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้นิ่งนอนใจ และให้ความสำคัญเป็นอย่างมากจึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งเข้าให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงประสบภัยได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ ดำเนินการอพยพสัตว์เลี้ยงไปยังพื้นที่ปลอดภัย สนับสนุนหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน เวชภัณฑ์สัตว์ และจัดเจ้าหน้าที่และอาสาปศุสัตว์ดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงของพี่น้องเกษตรกร พร้อมกันนี้ยังได้ชี้แจง “โครงการสานฝันสร้างอาชีพและยกระดับรายได้เกษตรกร” เพื่อส่งเสริมอาชีพ และฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกรภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย
                 ด้าน นายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้รับรายงานสำหรับสถานการณ์และการให้ความช่วยเหลือด้านปศุสัตว์ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มีดังนี้ ผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยง พื้นที่เลี้ยงสัตว์ และอาหารสัตว์ รวมทั้งสิ้น 14 อำเภอ ใน 65 ตำบลรวม 427 หมู่บ้าน (ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ สว่างวีระวงศ์ เหล่าเสือโก้ก ดอนมดแดง ม่วงสามสิบ เดชอุดม ตระการพืชผล สิรินธร สำโรง นาเยีย เขื่องใน ตาลสุม และอำเภอพิบูลมังสาหาร) และ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ได้รับผลกระทบ 17,609 ราย สัตว์ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งสิ้น 705,577 ตัว แปลงหญ้า 170 ไร่ และ จำนวนสัตว์อพยพในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ รวมทั้งสิ้น 51,253 ตัว
                การช่วยเหลือเกษตรกร ได้ดำเนินการ ดังนี้ การอพยพเคลื่อนย้ายสัตว์ โค กระบือ สุกร สุนัข ตามที่ได้รับแจ้งจากเจ้าของสัตว์ โดยเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ร่วมกับ อาสาปศุสัตว์ หน่วยงานจิตอาสาต่างๆ ไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง ปัจจุบันยังไม่มีรายงานสัตว์ใหญ่ตายจากน้ำท่วม มีเพียงไก่เนื้อจำนวนไม่มากนัก ส่วนการช่วยเหลือด้านสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดได้จัดหน่วยสัตวแพทย์ เข้าให้การช่วยเหลือเกษตรกร รักษาพยาบาลสัตว์ป่วยเบื้องต้น และทำการถ่ายพยาธิ ฉีดยาบำรุงสัตว์ และ การช่วยเหลือด้านอาหารสัตว์ได้รับมอบและส่งมอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทานแก่เกษตรกรไปแล้ว ไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง จำนวน 124,880 กิโลกรัม สนับสนุนถุงยังชีพปศุสัตว์ จำนวน รวม 1,385 ชุด พร้อมสนับสนุนแร่ธาตุ เวชภัณฑ์จากกรมปศุสัตว์และผู้บริจาคอีกจำนวนหนึ่ง
               สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ได้รับมอบและส่งมอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทานของกรมปศุสัตว์เพิ่มเติม จำนวน 15,000 กิโลกรัม เพื่อช่วยเหลือในอำเภอเขื่องใน เมือง และอำเภอวารินชำราบ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากชมรมรถบรรทุกฟางวัยรุ่นฟางอัดแห่งประเทศไทย มอบฟาง จำนวน 400 ก้อน และหญ้าสับบด จำนวน 30 ถุง และจังหวัดอุบลราชธานีมอบถุงยังชีพ พร้อมไข่ต้มของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด จำนวน 300 ชุด พร้อมได้จัดหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่เพื่อออกให้บริการแก่สัตว์เลี้ยงของพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่อำเภอวารินชำราบต่อไป
            สำหรับพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ได้รับความเดือดร้อน ต้องการความช่วยเหลือ ขอให้ท่านติดต่อประสานงานผ่านทางผู้นำชุมชน ท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง หรือปศุสัตว์อำเภอ/ปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้านท่านได้ทันที หรือติดต่อส่วนกลางที่ ศูนย์อำนวยการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ และทาง DLD4.0 รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!