นครปฐม-“สุมหัวนินทามีแต่ความฉิบหาย”ธรรมมะดีๆจาก”หลวงพี่น้ำฝน”

นครปฐม-“สุมหัวนินทามีแต่ความฉิบหาย”ธรรมมะดีๆจาก”หลวงพี่น้ำฝน”

ภาพ-ข่าว:คัคเนศวร์ พรอัศวโยธิน

“สุมหัวนินทามีแต่ความฉิบหาย”

           ​​เจริญพรญาติโยมผู้อ่านทุกท่าน จะขอกล่าวถึง “การนินทา” คำว่า “​​นินทา” หมายถึง คำติเตียนลับหลัง ปกติแล้วไม่มีใครในโลกที่ไม่เคยถูกติเตียน ก็ต้องถูกติไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง แต่การนินทานั้นกลายเป็นเรื่องใหญ่โตของมนุษย์ เพราะว่าปกติแล้วเวลาอยู่ต่อหน้า คนก็มักจะรักษาหน้ากัน ถึงจะติเตียนก็ติเตียนเอาพอควร หรือว่าต้องรักษาน้ำใจกันสถานที่ที่อาตมารู้สึกว่ามีการนินทาอยู่มาก คือที่ทำงาน เพราะว่าที่ทำงานนั้นเป็นแหล่งรวมคนหลากหลาย หลายที่มา หลายนิสัยใจคอ แต่ต้องมาอยู่ด้วยกันในที่เดียวกัน บางทีในห้องเดียวกัน จนบางทีก็น่าจะบ่อยกว่าผัวกว่าเมียตนเองด้วยซ้ำสำหรับคนที่แต่งงานแล้ว และในการทำงานนั้น คำติเตียนก็ย่อมต้องมี บางทีต้องติเตียนกันในการงาน ก็พูดได้แต่แค่สิ่งที่อยู่ในเนื้องาน จะเอาความไม่ชอบส่วนตัวมาติเตียนด้วยก็เห็นจะไม่ได้ ทั้งที่รู้สึกไม่ชอบขี้หน้านางคนนี้เต็มที ​​แต่ลับหลังเมื่อไหร่ละก็ กระซวกได้กระซวกเอา ถอดหน้ากากออกแล้วนี่ ทีนี้ล่ะ เรื่องงาน เรื่องส่วนตัว จับเอามายำกันให้หมด เสร็จแล้วกระพือต่อไปยังคนนู้น คนนี้ ตามภาษิตว่า ปากคนยาวกว่าปากกา สุดท้ายเรื่องที่เป็นยำใหญ่ใส่สารพัดนั่นก็รู้กันทั้งบริษัท ไม่แยกกันแล้วว่านี่เป็นข้อติเตียนเรื่องการงาน หรือเรื่องส่วนตัวกันแน่

          ​​การนินทานั้นเป็นของไม่ดี อาตมารู้ ทุกคนรู้ แต่มันก็เป็นของคู่กับโลกเรามา ขนาดพระพุทธองค์ยังยกไว้ในโลกธรรม 8 ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องพบเจอ ว่า ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ ของเหล่านี้มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอ แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็เถอะ ก็คงจะทรงโดนมานับไม่ถ้วน จนพระองค์ปรินิพพานไปแล้วสองพันปีก็ยังมีคนนินทา ดังคำสุนทรภู่กล่าวไว้ว่า “อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน แต่องค์พระปฏิมายังราคิน คนเดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา” คำนินทานั้นเหมือนเอามีดมากรีดหินก็จริง แต่ถึงกระนั้น ปุถุชนทั้งหลาย ใครเป็นคนถูกนินทาเองก็ยากจะสบายใจ เพราะนำมาสู่ผลเสียต่าง ๆ มากมายกับตัว ​​เช่น ในที่ทำงานแห่งหนึ่ง ก็มีคนทำงานอยู่หลายคน คนพวกนี้ก็ชอบจับเข่านินทากัน พอเห็นคนนู้นคนนี้เดินผ่านมา ก็หาเหตุนินทาเขา ส่งซิกแนลละก็ซุบซิบ ๆ กัน จนเป็นกิจวัตร ผู้หญิงคนหนึ่งก็เป็นเหยื่อคำนินทา พอเธอเดินมาก็ไปเห็นกลุ่มคนกำลังซุบซิบ ๆ ซึ่งรู้แน่ว่ากำลังนินทาถึงตน ก็โมโหขึ้นเป็นฟืนไฟ กลับไปฟ้องสามีของตนว่าโดนจับกลุ่มนินทา ฝ่ายสามีเห็นภรรยาถูกนินทาก็โมโห ได้โอกาสก็บุกไปด่ากลุ่มคนที่นินทานั้น กลายเป็นเรื่องวิวาทใหญ่โตไม่จบไม่สิ้น เห็นหรือไม่ว่า การนินทานั้นอาจส่งผลกระทบขยายวงได้ถึงเพียงนี้ จากเรื่องที่เป็นแค่การซุบซิบในวง ก็ขยายออกนอกวง รู้กันทั้งคุ้งทั้งบาง แล้วอาตมาอยากให้ผู้อ่านคิดดูเถิดว่า ต่อไปเธอคนนี้ สามีเธอ กับเพื่อนร่วมงาน จะมองหน้ากันติดไหม ปัญหามันก็จะลุกลามไปจนถึงเรื่องงาน เรื่องอื่นอีกมากมาย เห็นไหมว่า สุมหัวนินทามีแต่ความฉิบหายจริง ๆ

          ​​แน่นอนแหละว่า การนินทาว่าร้ายนั้นเป็นของปกติที่มนุษย์โลกทุกคนต้องพบเจอ พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ในเรื่องโลกธรรม ต้องรับให้ได้ อยู่กับมันให้เป็น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเราหรือใครจะไปนินทาคนอื่นได้ เพราะการนินทาคนอื่นนั้นเล่า เหมือนเอาตัวไปแขวนบนเส้นด้ายที่ชื่อว่าวจีทุจริต วจีทุจริตคือการกระทำชั่วด้วยวาจา มีอยู่สี่อย่าง คือ พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด และพูดเพ้อเจ้อ อาตมาถามเถิดว่า เวลาคนนินทากันเนี่ย มันเป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่ลงล็อกในวจีทุจริต…ไม่มีหรอก ถึงจะนินทาเรื่องที่มันจริง แต่พออยู่กันหลาย ๆ คน มันเริ่มจะสนุกปากเข้า รายละเอียดต่าง ๆ ก็จะงอกเงยออกมาเต็มไปหมด เอาล่ะ พูดเท็จแล้ว สนุกปากเข้าไปอีก จะนินทาด้วยคำคะ ขา ก็ไม่สนุก มันต้องมีคำด่า นี่ก็เรื่องพูดคำหยาบ เสร็จแล้วเอาไปขยายผลอีก ไปพูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อกับคนอื่นเขา เห็นไหมว่า การนินทานี่ทำให้ตกไปในวจีทุจริตอย่างง่ายดาย ทำบาปแบบไม่รู้ตัว แล้วก็ยิ่งพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ ตามความสนุกปาก ความสะใจที่เกิดขึ้น

          ​​เพราะฉะนั้น คนเราถ้าไม่นินทา ก็จะไม่เกิดเรื่องใด ๆ ขึ้น เพราะวจีทุจริตนั้นทำให้เกิดเรื่องเกิดราว วจีทุจริตเป็นของร้อน ของร้อนที่ว่านี้ ใครจับก็ไฟลวกมือ มือพอง มือไหม้ทั้งนั้น ถึงนินทาคนอื่น แต่ใจเราโดนเผาโดนสุมไฟอยู่ทุกวัน ที่ไหนเลยจะเกิดบุญได้ ไฉนเลยจะพ้นไปจากกรรมได้ มีแต่จะจมอยู่ในบ่วงกรรมมากขึ้นก็เพราะเหตุนี้ และถึงการนินทานั้นจะมิใช่การพูดตรง ๆ ต่อหน้าคนที่เรานินทา แต่ก็ทำให้คนที่ถูกนินทานั้นระแวงไปแล้ว แล้วก็จะเกิดเรื่องเกิดราวตามมามากมายดังที่ได้เล่าไป เรื่องนี้มีให้เห็นว่าคำนินทานั้นถึงกับล่มเมืองได้

           สมัยปลายพุทธกาล วัสสการพราหมณ์ พราหมณ์ผู้ฉลาดคนหนึ่ง ทำงานให้พระเจ้าอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธ พระเจ้าอชาตศัตรูนั้นใคร่จะได้แคว้นวัชชีที่อยู่ข้าง ๆ กันมาอยู่ในอำนาจ แต่แคว้นวัชชีนั้นมีผู้นำที่สามัคคีกัน คือพวกเจ้าลิจฉวี จึงเอาชนะไม่ได้ วัสสการพราหมณ์ได้ทราบจากพระพุทธองค์ที่ตรัสเล่าว่าแคว้นวัชชีนั้น เหล่าผู้ปกครองตั้งมั่นในหลักธรรม มีความสามัคคีแก่กัน วัสสการพราหมณ์เป็นคนมีเพทุบายจัด ได้ยินพระพุทธองค์ตรัสดังนั้นก็คิดจะสนองงานพระเจ้าอชาตศัตรูให้สำเร็จ จึงใช้อุบายจนเข้าไปทำงานในแคว้นวัชชีได้ และยุแยงให้บรรดากลุ่มผู้ปกครองระแวงกันเอง ในวงของเจ้าลิจฉวีก็คงจะเต็มไปด้วยคำนินทาว่าร้าย คำใส่ความแก่กัน ความระแวงซึ่งกันและกัน ผลสุดท้าย ความเข้มแข็งของแคว้นวัชชีก็หมดลง พระเจ้าอชาตศัตรูก็กรีฑาทัพเข้าตีวัชชีได้สำเร็จ แม้เรื่องนี้เป็นการใช้ความฉลาดในทางมืดของวัสสการพราหมณ์ แต่ก็สะท้อนให้เรารู้ว่า คำนินทาถึงกับล่มเมืองได้จริง ๆ นี่แหละพิษร้ายของคำนินทา

          ​​คนเรามีอะไรให้ทำอีกมากนอกจากการนินทาว่าร้ายคน เอาเวลาที่จะจ้องนินทาคนไปพูดจาในสิ่งที่เป็นประโยชน์ดีกว่า ดีกว่าเอาหัวใจมาปิ้งไฟให้ไหม้เสียเอง ใครทำกรรมอะไรไว้คนนั้นก็ต้องรับกรรมของตนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปซุบซิบนินทาให้มันเพิ่มกรรมอะไรขึ้นมาเลย อย่างในที่ทำงานนี้ ก็ขอให้เอาเวลาไปทำงานยังจะดีกว่า ดีกว่ามานินทากัน ผลสุดท้ายก็คืออะไร ความไม่สามัคคี ความไม่ลงรอยกัน แล้วคิดหรือว่าบริษัท หรือองค์กรใด ๆ ที่บุคลากรไม่สามัคคีกันจะไปตลอดรอดฝั่งได้ สุดท้ายตีกันจิกกันเอง ล่มจมไปอีก ก็แค่คำพูดไม่กี่คำแท้ ๆ ขอเจริญพร

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!