นครปฐม-“กสอ.เปิดผลสำเร็จแม่เอย”ต้นแบบผู้ประกอบการฝ่าวิกฤตโควิด-19

นครปฐม-“กสอ.เปิดผลสำเร็จแม่เอย”ต้นแบบผู้ประกอบการฝ่าวิกฤตโควิด-19

ภาพ/ข่าว:อริย์ธัช พรอัศวโยธิน

      กสอ.เปิดผลสำเร็จ ร้านของฝาก “แม่เอย” ต้นแบบผู้ประกอบการ ปรับแนวคิด พาธุรกิจ-พนง. รอด ! ผ่านโมเดล “แตกกอผู้ประกอบการ” เพิ่มโอกาสทำธุรกิจ สร้างรายได้ให้สถานประกอบการและพนักงาน
           วันนี้ (25 มิถุนายน 2563) เวลา 10.00 น. ที่ร้านของฝาก “แม่เอย” ของ บริษัท ขนมแม่เอย–เปี๊ยะ แอนด์ พาย (2003) จำกัด ตำบลศรีษะทอง อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมคณะได้เดินทางมาเยี่ยมชมการประกอบการที่ประสบผลสำเร็จของผู้ประกอบการร้าน”แม่เอย”ที่สามารถดำเนินธุรกิจผ่านสถานการณ์โควิด-19 มาได้ โดยมีนายดิศรณ์ มาริษชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขนมแม่เอย–เปี๊ยะ แอนด์ พาย (2003) จำกัด มาร่วมการบรรยายถึงการบริหารจัดการ พร้อมนำคณะเข้าเยี่ยมชมการผลิตภายในโรงงานขนมอีกด้วย
          สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ต้องยอมรับว่าปัญหาผลกระทบสำหรับผู้ประกอบการนั้นมีมากมาย บางรายถึงกับปิดกิจการก็มี เป็นหนี้สินก็มากมาย ทางด้าน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มีการเร่งช่วยผู้ประกอบการสินค้าของฝาก เพื่อสร้างรายได้หล่อเลี้ยงชุมชน ผ่านโมเดล “แตกกอผู้ประกอบการ” ฟื้นฟูวิสาหกิจให้ดีพร้อมใน 90 วัน โดยในครั้งนี้ได้โชว์ผลสำเร็จของร้านของฝาก “แม่เอย” ต้นแบบผู้ประกอบการที่ปรับแนวคิด พาธุรกิจและพนักงานรอด พร้อมแนะทริค 3P เสริมศักยภาพกิจการใหม่ ได้แก่ 1. Product DIProm ผลิตภัณฑ์ที่ดีพร้อม พัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ภายใต้ขอบเขตราคาและคุณภาพที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึง 2. Process DIProm กระบวนการที่ดีพร้อม ผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเสริมศักยภาพการผลิต เพื่อยกระดับกระบวนการบริหารจัดการการผลิตให้มีศักยภาพมาตรฐาน และ 3. Platform DIProm ตลาดที่ดีพร้อม ใช้โซเชียลมีเดียขยายตลาดเพิ่มยอดขาย โดยปรับสู่การจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น รองรับนโยบายทราเวลบับเบิล จากรัฐบาล ซึ่ง กสอ.มีผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำแนะนำในทุก ๆ กระบวนการ
            นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากนโยบายเที่ยวปันสุขของรัฐบาลที่เน้นกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจฐานราก กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จึงมีแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการสินค้าของฝาก เพื่อเป็นการสร้างรายได้ขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชน ภายใต้มาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรมให้ดีพร้อมใน 90 วัน เพื่อช่วยเหลือ 1 ใน 4 กลุ่มเป้าหมายอย่าง “วิสาหกิจชุมชน” ที่พึ่งพาการท่องเที่ยวในการสร้างรายได้เป็นหลักให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ด้วยสถานการณ์ที่ผ่านมา มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 นับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ “การท่องเที่ยว” หนึ่งในจิ๊กซอว์ทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจของสินค้าของฝาก ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2563 ลดลงกว่า 3 หมื่นล้านบาท จากเดิม 1 แสนล้านบาท เกิดการปรับโครงสร้างของวิสาหกิจจำนวนมากและอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น
            อย่างไรก็ดี เพื่อให้ธุรกิจที่จะแตกกอใหม่มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น กสอ. จึงแนะนำทริค 3P เสริมศักยภาพให้กิจการใหม่ ดังรายละเอียดต่อไปนี้ คือ                 Product DIProm หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ดีพร้อม กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยการปรับผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในขอบเขตราคาที่สามารถเข้าถึงพัฒนาอายุผลิตภัณฑ์ให้มีระยะเวลาที่นานขึ้น ทั้งยังต้องวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค รองรับค่านิยมที่เปลี่ยนแปลง เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไทย
           Process DIProm หรือ กระบวนการที่ดีพร้อม ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาเพิ่มศักยภาพในกระบวนการผลิต รวมทั้งการบริหารจัดการวัตถุดิบ และการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต โดยสำหรับธุรกิจที่แตกกอขึ้นมาใหม่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกแบบแผนการดำเนินงานให้มีความยืดหยุ่น เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
            Platform DIProm หรือ ตลาดที่ดีพร้อม การใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดีย (Social Media) เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินค้าและบริการ ลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับร้านค้า ทั้งยังสามารถเก็บข้อมูลลูกค้า เพื่อการวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่ง โดยเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐบาลในปัจจุบัน “ทราเวลบับเบิล” (Travel Bubble) วิสาหกิจชุมชน      ต้องสามารถผนวกผลิตภัณฑ์เข้ากับแหล่งท่องเที่ยว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งจากในและต่างประเทศ
            นอกจากนี้ กสอ. ยังได้มีการพัฒนาโครงการ “แตกกอผู้ประกอบการ” เพื่อเพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจสร้างรายได้ให้สถานประกอบการและพนักงาน ผ่านกระบวนการปรับแนวคิดเพื่อสร้างแบบจำลองทางธุรกิจ (Business Model) พร้อมให้คำปรึกษาทั้งก่อนและหลังการดำเนินธุรกิจ โดยธุรกิจที่แตกกอขึ้นมาใหม่นั้น อาจเป็นการแตกไลน์การผลิตเพิ่มเติม ที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจเดิมโดยพนักงาน หรือการลงทุนของกลุ่มวิสาหกิจเอง เพื่อขยายไลน์การผลิตใหม่ ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกัน กสอ. ได้ดำเนินการจัดทีมผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำการประกอบกิจการ ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน อุตสาหกรรมเกษตร และคนว่างงาน โดยคาดว่า ภายใต้กรอบมาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรมให้ดีพร้อมใน 90 วัน
            ด้าน นายดิศรณ์ มาริษชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขนมแม่เอย – เปี๊ยะ แอนด์ พาย (2003) จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากผลกระทบโควิด-19 ส่งผลให้ยอดการผลิตของบริษัทขนมแม่เอยฯ ลดลงกว่าร้อยละ 60 จากเดิมที่ผลิต 20,000 ชิ้นต่อวัน จำนวนแรงงานลดลงกว่าร้อยละ 80 จากการเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งทีมงาน กสอ. โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 ได้เดินทางเข้ามาช่วยเหลือ พร้อมให้คำแนะนำในการปรับกลยุทธ์การผลิต ด้วยการคิดต่อยอดและแปรรูปผลิตภัณฑ์ รวมถึงแนะนำช่องทางการตลาด   เพื่อเป็นการสร้างรายได้หล่อเลี้ยงภายในบริษัท รวมถึงพนักงานและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงในการประกอบอาชีพเสริม ผ่านการจำหน่ายไส้ขนม อาทิ เผือกกวน มันกวน และ ถั่วกวน ไปต่อยอดธุรกิจของตนเอง ด้วยการใช้ไส้ขนมเป็นส่วนประกอบของขนมปังสังขยา หรือนำไปใช้เป็นไส้ของซาลาเปา ซึ่งล่าสุดพบว่า พนักงานและคนในพื้นที่สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจได้จริง โดยใช้เงินลงทุนเพียง 500 บาท นอกจากนี้ ยังช่วยกระตุ้นยอดขายไส้ขนมของบริษัทฯ ได้ถึง 2 เท่า หรือคิดปริมาณ 1 ตันต่อวัน

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!