นครสวรรค์-อบจ.ประชุมระดมสรรพกำลัง ฟื้นฟูศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง

นครสวรรค์-อบจ.ประชุมระดมสรรพกำลัง ฟื้นฟูศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง

ภาพ-ข่าว:ชาติชาย เกียรติพิริยะ

       อบจ.นครสวรรค์ ประชุมระดมสรรพกำลัง ฟื้นฟูศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ที่ทุ่งแว่น จัดสรรพื้นที่ จัดโซนการใช้งาน จัดกำลังคน อุปกรณ์ ไม่หารายได้
         เมื่อเวลา 13:00 น วันที่ 10 มิถุนายนนี้ ที่ห้องประชุมศูนย์ข้อมูล องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วย พลตำรวจตรีวิฑูรย์ คลังพลอย ที่ปรึกษานายกอบจ.นครสวรรค์ นายมานพ บุญผสม นายเชิดพันธุ์ มาศรี นางสุดฤทัย เศรษฐนันท์ รองนายกอบจ.นครสวรรค์ ร้อยตำรวจโทพิทักษ์ พันธ์งิ้ว เลขานุการนายก อบจ. นายไกรสิน ศิลปาจารย์ ปลัดอบจ.นครสวรรค์ นายสันติ จันทร์เผิบ สิบเอกพิทยา นาคกุญชร รองปลัดอบจ.นครสวรรค์ ผู้อำนวยการกองที่เกี่ยวข้อง และคณะครูหมวดการงานอาชีพ โรงเรียนสวนกุหลาบ จิรประวัติ นครสวรรค์ ร่วมประชุมปรึกษาหารือ เพื่อเตรียมฟื้นฟูศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บ้านทุ่งแว่น ตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์
         หลังจากที่นายก พร้อมคณะ เข้าสำรวจศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบ้านทุ่งแว่น แล้วนั้น ได้มอบหมายคณะทำงานศึกษาข้อมูลสภาพพื้นที่ พิจารณาหาแนวทาง ทำการกำหนดภารกิจ และแผนการดำเนินการฟื้นฟู เพื่อกำหนดเป้าหมายการดำเนินงาน โดยวางแผนการพัฒนาในด้านต่าง ๆดังนี้ คือ 1.ด้านการเกษตร 2.ด้านประมง 3.ด้านปศุสัตว์ 4.ด้านป่าไม้ 5.ด้านพัฒนาที่ดิน 6.ด้านพลังงานทดแทน 7.ด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร นอกจากนี้ ทางด้านกำลังคน มุ่งเน้นคนในพื้นที่ที่ยอมรับข้อตกลง เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ โดยเมื่อจัดสัดส่วนที่ดินตามโครงการประเภทต่างๆเป็นที่เรียบร้อย จะดำเนินการปรับพื้นที่ และพัฒนาคุณภาพผิวดิน เพราะต้องการฟื้นฟูสภาพดิน เพื่อทำการเกษตรไร้สารเคมี เนื่องจากที่ผ่านมีการทำสวนแตงโม มีการใช้ปุ๋ย ใช้ยาฆ่าแมลงมาก จึงจำต้องฟื้นฟูสภาพดิน
           อีกส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการพื้นที่ การจัดทำกิจกรรมตามโครงการตามแนวของเศรษฐกิจพอเพียง นายก อบจ.ได้ให้โรงเรียนสวนกุหลาบ จิรประวัติ นครสวรรค์ เข้ามีส่วนร่วมในโครงการ ด้วยการจัดสรรพื้นที่ เพื่อให้นักเรียนที่สนใจในหลักสูตรอาชีพด้านการเกษตร ได้เรียนรู้ และปฏิบัติจริง ในเรื่องของเกษตร ประมง และปศุสัตว์ เพื่อการพัฒนาไปสู่การเป็น Young Smart Farmer เมื่อมีผลผลิต ก็สามารถส่งผลผลิตไปยังนักเรียนด้านคหกรรม เพื่อนำไปแปรรูปสำหรับทำอาหาร เบเกอร์รี่ และเครื่องดื่ม ในคาเฟ่หรือเอ้าท์เล็ท(Out Let ) ในโรงเรียน เพื่อเสริมรายได้ระหว่างเรียน และสามารถประกอบเป็นอาชีพได้
           ทั้งนี้เป้าหมายที่สำคัญคือ นายกอบจ.เน้นการพัฒนาให้ไปสู่นักเรียน 1 คน 1 ความสามารถ 1 อาชีพ และยึดหลักในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งพัฒนาชาวบ้านและนักเรียนที่ร่วมโครงการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!