ศรีสะเกษ-ชาวบ้านกันทรลักษ์นับร้อยอพยพหนีตายน้ำท่วม

ศรีสะเกษ-ชาวบ้านกันทรลักษ์นับร้อยอพยพหนีตายน้ำท่วม

ภาพ/ข่าว:ศิริเกษ หมายสุข

        ชาวบ้านกันทรลักษ์นับร้อยอพยพหนีตายน้ำท่วม ด้านเขื่อนราษีไศลเตือนประชาชนเตรียมอพยพขณะที่ ผอ.เขื่อนหัวนายันแม่น้ำมูลยังรับน้ำได้อีกปริมาณมาก ส่วนเกษตร จ.ศรีสะเกษเผยไร่นาโดนน้ำท่วมเสียหายแล้วกว่า 25,000 ไร่เตรียมให้การช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเต็มที่

           เมื่อวันที่ 5 ก. ย. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณหอประชุมที่ว่าการ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.ศรีสะเกษ ได้มอบหมายให้ นายทรงพล ใจกริ่ม รอง ผวจ.ศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายบุญประสงค์ นวลสายย์ หน.สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ศรีสะเกษ และ พ.ท.พัฒนพงศ์ แสนภูวา นายทหารจาก กอ. รมน.จ.ศรีสะเกษและคณะได้เดินทางไปลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประชาชนที่ประสบอุทกภัยในเขตเทศบาลเมืองกันทรลักษ์ ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมพบว่า ขณะนี้มีประชาชนได้รับผลกระทบจากอุทกภัยน้ำท่วมบ้านเรือนจำนวนทั้งสิ้น 100 ครัวเรือน 560 คน และมีประชาชนจำนวน 15 ครัวเรือนรวม 60 คน พากันอพยพมาพักอาศัยอยู่ที่หอประชุมที่ว่าการ อ.กันทรลักษ์ ซึ่งทางราชการได้จัดเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคมาให้การช่วยเหลือประชาชน จากนั้น ได้เดินทางไปตรวจสภาพน้ำท่วมในเขตเทศบาลเมืองกันทรลักษ์ และบริเวณ ต.กระแชงและ ต.หนองหญ้าลาด พบว่า มีมวลน้ำป่าที่ไหลลงมาจากเทือกเขาพนมดงรัก ไหลทะลักท่วมถนนสายกันทรลักษ์ – ศรีสะเกษ บริเวณหน้าปั๊มน้ำมัน ปตท. บ้านกระบี่ หมู่ 8 ต.หนองหญ้าลาด อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ แต่รถยังสามารถสัญจรได้ ยกเว้นรถเล็กไม่สามารถสัญจรไปมาได้สะดวก มีเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย และเจ้าหน้าที่ ตร.มาคอยดูแลอำนวยความสะดวก ซึ่งปรากฏว่า ได้มีนายกิตติศักดิ์ พ้นภัย และคณะนำเอาผลไม้มามอบให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ โดยขณะนี้ระดับน้ำจากห้วยขะยูงและลำห้วยพอกมีแนวโน้มลดลงบ้างแล้ว
          นายณัทเศรษฐ์ ถิรวัฒน์ธนกร ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหัวนา (เขื่อนหัวนา) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำที่อ.ยางชุมน้อย น้ำที่ท่วมเป็นน้ำที่เกิดจากน้ำฝนที่ตกติดต่อกันต่อเนื่องสะสมเป็นระยะเวลานาน แต่ไม่มีทางระบายน้ำออกจากพื้นที่หรือมีก็ไม่พอเพียงเหมือนเกิดรถติดเกิดการสะสมเป็นจำนวนมาก จนเกิดผลกระทบน้ำท่วมขัง ต้องช่วยกันหาทางแก้ไขการระบายน้ำที่มีปัญหาเช่น ท่อระบายน้ำตัน มีถนนกั้นขวางทางน้ำแต่สร้างท่อระบายน้ำลอดถนนไม่เพียงพอ คลองระบายน้ำเล็กเพราะถูกรุกที่ไปทำกินไม่พอต่อการระบายน้ำ ให้สามารถระบายน้ำได้อย่างสะดวก ซึ่งถ้าน้ำในห้วย หนอง บึง หรือในนา สามารถมีทางระบายน้ำลงแม่น้ำมูลได้สะดวก น้ำในเขตอำเภอยางชุมน้อยจึงจะลดลง และเป็นการแก้ไขในระยะยาวที่ยั่งยืนด้วย ขณะนี้ระดับน้ำเหนือเขื่อนหัวนาอยู่ที่+113.30ม.รทก. ถือว่ายังต่ำสามารถรองรับน้ำที่จะระบายลงสู่แม่น้ำมูลได้อีกมาก
            นายภานรินทร์ ภาณุพินทุ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง (เขื่อนราษีไศล) เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำที่เขื่อนราษีไศลเพิ่มขึ้นใกล้ระดับเก็บกักแล้ว คาดว่าในวันนี้ (5 ก.ย.62)น่าจะสามารถระบายน้ำเพิ่มได้ จึงขอแจ้งให้สมาชิกและผู้ที่อาศัยริมแม่น้ำมูลเตรียมขนย้ายสิ่งของ ทรัพย์สิน สัตว์เลี้ยง ฯลฯ ขึ้นที่สูง ส่วนประเภทแพสูบน้ำ แพอาหาร แพกระชังปลาฯลฯ ให้ดึงเข้าริมชายฝั่งให้มากที่สุด เพราะระดับน้ำอาจส่งผลให้เกิดอันตรายและความเสียหายได้ จึงแจ้งเตือนให้เพิ่มความระมัดระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เขื่อนราษีไศลจะยังไม่เปลี่ยนแปลงการระบายน้ำที่เปิดอยู่ขณะนี้โดยจะหน่วงน้ำไว้จนกว่าสภาวะการของน้ำถึงจุดใกล้ระดับวิกฤตจึงจะพิจารณาบริหารบานประตูระบายน้ำต่อไป

             ทางด้าน นายสว่าง กาลพัฒน์ เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า จ.ศรีสะเกษ มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 จำนวน 2,954,192 ไร่ มีพื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบ จากปัญหาอุทกภัยแล้ว 5 อำเภอ 20 ตำบล 210 หมู่บ้าน มีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวม 25,091 ไร่ เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนพื้นที่นาข้าวจมน้ำเสียหาย จำนวน 5,980 ราย ในเขตพื้นที่ อ.กันทรลักษ์ อ.โนนคูณ อ.เบญจลักษณ์ อ.ศิลาลาด และอ.ยางชุมน้อย โดยคาดว่าหากมีฝนตกลงมาติดต่อกันอีก 3-4 วัน อาจมีพื้นที่ประสบภัยเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมการให้ความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จากปัญหาดังกล่าว จึงขอประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช ปี 2562 คือ เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย และจะมีการให้ความช่วยเหลือตามพื้นที่เสียหายจริง ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ โดยพืชที่สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ ประกอบด้วย ข้าว ในอัตราไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ 1,148 บาท/ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 1,690 บาท/ไร่ ส่วนกรณีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประกันภัยกับ ธ.ก.ส. เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมื่อได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง แล้ว ยังจะได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก คือ ข้าวนาปี เบี้ยประกัน 85 บาท/ไร่ จะได้รับสินไหมทดแทน 1,260 บาท/ไร่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เบี้ยประกัน 59 บาท/ไร่ จะได้รับสินไหมทดแทนอีก 1,500 บาท/ไร่ ทั้งนี้หลังน้ำลดสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอทุกอำเภอ จะได้เร่งสำรวจความเสียหาย และให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!