พิษณุโลก-วัดจันทร์ตะวันตกจัดงานสัปดาห์เผยแพร่พระพุทธศาสนา

พิษณุโลก-วัดจันทร์ตะวันตกจัดงานสัปดาห์เผยแพร่พระพุทธศาสนา

ภาพ/ข่าว:อนุชา แก้วคำมา

      วัดจันทร์ตะวันตกจัดงานสัปดาห์เผยแพร่พระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชา และ วันเข้าพรรษา

        เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 62 ที่ วัดจันทร์ตะวันตก อ.เมืองพิษณุโลก พระศรีรัตนมุนี เจ้าคณะจังหวัดพิษณุโลก ประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมคณะสงฆ์จังหวัดพิษณุโลก โดยมีนายสุรชัย มณีประกร รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ประธานฝ่ายฆราวาส นายเจษฎา ลิ้มศรีตระกูล นายอำเภอเมืองพิษณุโลก พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและพุทธศาสนิกชน ร่วมงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ร่วมถวายเทียนจำนำพรรษาจำนวน 138 เล่ม ถวาย 69 วัด ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก โดยมีเทียน 1 คู่ พระธรรม 1 ตู้ ข้าวสาร 1 กระสอบ น้ำ 1 แพ็คผ้าป่าสามัคคี 1 กอง จำนวน 69 เจ้าภาพ
          คำว่า เข้าพรรษา แปลว่า พักฝน หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาลมีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้า และพืชอื่นเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำนำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน แล้วดูผลโดยแบ่งเป็น ปุริมพรรษา หรือวันเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ของทุกปี หรือถ้าปีใดมีเดือน 8 สองครั้ง เป็นวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 หลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ปัจฉิมพรรษา หรือวันเข้าพรรษาหลัง เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 9 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 อย่างไรก็ตามหากมีธุระ คืนเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถกลับได้ในคืนเดียว ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า สัตตาหะ หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำนำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด
           การถวายเทียนพรรษาได้จัดทำขึ้นก่อนเทศกาลเข้าพรรษาแด่พระสงฆ์ในพุทธศาสนาทุกปี คือก่อนวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 หรือเดือน 8 ที่สอง ในกรณีที่มีอธิกมาส พุทธศาสนิกชนก็จะพากันขวนขวายให้มีการ ถวายเทียนจำนำพรรษาแก่วัดในท้องถิ่นของตน เพื่อให้พระสงฆ์จุดบูชาพระรัตนตรัยเป็นเวลา 3 เดือน สมัยก่อนเทียนพรรษามีความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะพระสงฆ์ต้องใช้จุดให้แสงสว่างในการศึกษาธรรมวินัยแต่ในปัจจุบันนั้นเทียนพรรษาอาจจะมีความสำคัญลดน้อยไป ญาติโยมจึงมีจิตศรัทธาได้เปลี่ยนมาถวายหลอดไฟฟ้า ถ่านไฟฉาย ต้นแทน แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีการถวายเทียนพรรษากันอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาไว้ซึ่งประเพณีอันดีงามของชาวพุทธไม่ให้สูญหายไป
            สำหรับ ผ้าอาบน้ำฝน ถึงแม้ว่าไม่ได้จัดอยู่ในชุดไตรจีวร แต่ก็หมายถึงเครื่องนุ่งห่มอันจำเป็นสำหรับพระภิกษุสงฆ์เช่นกัน การถวายผ้าอาบน้ำฝนให้พระภิกษุนั้นก็เพื่อให้ท่านได้นำสำหรับอาบน้ำในช่วงฤดูฝนซึ่งจัดเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาเพียงปีละครั้งก่อนเข้าพรรษา คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 7 เป็นต้นไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 เธอจะเลือกช่วงเวลาไหน อันใดก็ได้ในช่วงเวลานี้ ซึ่งขนาดของผ้าอาบน้ำฝนนั้นกำหนดมาตรฐานไว้ว่า จะต้องมีความยาวของผ้า 4 ศอก กับ 3 กระเบียด กว้างศอกคืบ 4 นิ้ว 1 กระเบียด กลับ 2 อนุกระเบียด ติดตามประมาณของช่างไม้ ยาวหรือกว้างกว่านั้นไม่ได้จะเป็นโทษแก่พระภิกษุสงฆ์ อานิสงส์ของการถวายผ้าอาบน้ำฝน เชื่อถือกันมานานว่าผู้ใดที่ถวายผ้าอาบน้ำฝนให้พระภิกษุสงฆ์ จะถือว่าเป็นการทำบุญที่ช่วยทำนุบำรุงและสนับสนุนพระศาสนาให้คงอยู่สืบไป และมิให้พระภิกษุสงฆ์ต้องลำบากในการแสวงหาผ้าอาบน้ำฝน แต่จะได้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรมตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาและช่วยเผยแผ่ให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสืบไป ผู้ที่ได้บริจาคผ้าอาบน้ำฝนก็จะได้พบแต่ความสุขความเจริญ จะมั่งมีด้วยทรัพย์สินเงินทองและบริวารมากมาย เมื่อสิ้นบุญไปแล้วก็จะได้เกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดาบนสรวงสวรรค์ เสวยทิพย์สมบัติสืบไป

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!