ปราจีนบุรี-ชาวนาปรัง 2 จว. กว่า 60 คนยื่นหนังสือร้องทุกข์ขอน้ำ จากพิษภัยแล้ง

ปราจีนบุรี-ชาวนาปรัง 2 จว. กว่า 60 คนยื่นหนังสือร้องทุกข์ขอน้ำ จากพิษภัยแล้ง

ภาพ/ข่าว:มานิตย์ สนับบุญ

       ชาวนาปรัง 2 จว.แปดริ้ว -ปราจีนฯกว่า 60 คนยื่นหนังสือร้องทุกข์ขอน้ำ จากพิษภัยแล้ง “น้ำเค็มหนุน” ก่อนนาข้าวกว่า 20,000 ไร่ขาดน้ำจืดเพื่อการเกษตร-อุปโภค –บริโภค แจงเกิดศึกแย่งน้ำระหว่างบ่อปลา-บ่อกุ้ง กับชาวนาปรังแล้ว!

         วันนี้ 14 ม.ค.63 ที่หน้าที่ว่าการอำเภอบ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ตัวแทนเกษตรกรจาก อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี และ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา รวม 2 จังหวัด นำโดยนายพยนต์ พฤกษา อายุ 57 ปี กำนันตำบลบางยาง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี พร้อม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน , นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.) และราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งใน 2 จังหวัดเขตพื้นที่อำเภอบ้านสร้าง และอำเภอบางคล้า รวมจำนวนประมาณ 60 คน ได้เข้าพบและยื่นหนังสือต่อนายชัยวรรณ นิยม นายอำเภอบ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี
         จากนั้นเข้าห้องประชุมเพื่อขอให้ประสานงานกับกรมชลประทาน ในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งที่ปัจจุบันน้ำเค็มหนุนขึ้นสูง และปริมาณน้ำไม่เพียงพอ อุปโภค บริโภค และไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่กำลังจะยืนต้นตายจำนวนเนื้อที่ปลูกข้าวนาปรังมากกว่า 20,000 ไร่ เนื่องจากช่วงฤดูแล้งมีปัญหาภาวะน้ำเค็มหนุนลุ่มน้ำบางปะกง น้ำเค็มจากปากอ่าวไทยหนุนสูงผ่าน จ.ฉะเชิงเทรา สูงถึง ต.บางแตน,ต.บางยาง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ระดับค่าความเค็มมากกว่า 2 มก./ล. ไม่สามารถนำไปใช้ในการเกษตรกรรม และอุปโภค – บริโภคได้ ในคลองชลประทานที่กักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร น้ำแห้งขาดแคลนน้ำที่ใช้สูบหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่กำลังออกรวง – ตั้งท้องให้ผลผลิต หากไม่มีน้ำจืดเข้าไปช่วยเหลือ
         โดยในหนังสือร้องทุกข์ ได้ขอร้องให้เร่งกำจัดวัชพืชที่เป็นอุปสรรคปิดขวางเส้นทางส่งน้ำในคลองหอทอง -คลองโพธิ์เย็นออกไป และ ขอให้สูบน้ำเข้าคลองบางพลวง และคลองหอทอง โดยด่วนที่สุด ก่อนที่น้ำเค็มจะรุกตัวขึ้นไปถึงปากประตูน้ำทั้งสองแห่ง โดยมี น.ส.จารุณี ปรีดามีสุข และนายอนุกูล สืบจากดี นายช่างชลประทาน ผู้แทนผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางพลวง เป็นผู้แทนรับหนังสือ
         นายพยนต์ ตัวแทนกลุ่มเกษตรการกล่าวว่า ด้วยขณะนี้ได้เข้าสู่วิกฤตภัยพิบัติทางธรรมชาติ (ภัยแล้ง) ซึ่งทำให้เกิดความเดือดร้อนในพื้นที่มาจากภาวะน้ำเค็มหนุนในลุ่มน้ำบางปะกง – แม่น้ำปราจีนบุรี จากปากอ่าวไทย ผ่าน จ.ฉะเชิงเทรา ขึ้นสูงถึง พื้นที่ต.บางแตน , ต.บางยาง ค่าระดับความเค็มช่วงน้ำขึ้นสูงมากเกิน 2 มก./ล. น้ำไม่สามารถใช้อุปโภค –บริโภค และใช้ในการเกษตรกรรมได้ ชาวบ้านได้รับผลกระทบทันที 5 หมู่บ้านคือ ม.9-10-11-12 และ 13 ของตำบลบางยาง และยังมีอีกหลายหมู่บ้านของ ต.บางเตย ,บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี และ ต.บางกระเจ็ด อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา
         หมู่บ้านดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องใช้น้ำจากลำคลองโพธิ์เย็น ซึ่งคลองโพธิ์เป็นเส้นทางน้ำสายหลักที่จะส่งน้ำไปยังจุดต่างๆ ดังนี้ จากประตูน้ำคลองหอทอง ผ่าน ต.บางเตยไปยังบางแตนสุดเขตบางแตนที่ประตูน้ำบางกระดานและมีลำคลอง แยกตลอดเส้นทางไปยัง ต.บางกระเจ็ด อ.บ้านคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งตลอดลำคลองมีชาวบ้านใช้น้ำเพื่อการเกษตร และบางหมู่บ้านใช้น้ำผลิตน้ำประปา แต่ขณะนี้น้ำในลำคลองโพธิ์เย็นมีจำนวนน้อยมาก ไม่เพียงพอ

          จากการตรวจสอบและประสานงานกับพื้นที่ใกล้เคียงพบว่าเส้นทางน้ำจากประตูคลองหอทอง บริเวณลำคลองหอทองน้อย ต.บางเตยก่อนที่จะมาสู่คลองโพธิ์เย็น มีวัชพืชขึ้นในลำคลองอย่างหนาแน่นเป็นสาเหตุทำให้ขวางทางน้ำในคลองไม่พอใช้

          ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้งบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในเขตตำบลบางเตย บางยาง บางแตน อ.บ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรีและ ต.บางกระเจ็ด อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา จึงขอให้ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 บางพลวง ได้ช่วยเหลือโดยกำจัดวัชพืชหรือทำการขุดลอกลำคลองเพื่อเป็นการเปิดทางน้ำให้ไหลไปสู่คลองโพธิ์เย็นได้สะดวก เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำเพื่อใช้ทางการเกษตร การผลิตน้ำประปาและอุปโภค เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในครั้งนี้

           ด้านนายชัยวรรณ นายอำเภอบ้านสร้าง กล่าวว่าได้ทราบข่าวความเดือดร้อนของประชาชนและได้รายงานให้จังหวัดทราบแล้ว ในครั้งนี้นั้นได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วจะขอสนับสนุนในการช่วยเหลือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี (อบจ.) และส่วนที่เกี่ยวข้องโดยด่วน

           ขณะที่ นายสามารถ สมบูรณ์ เกษตรกรนาปรัง อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี ที่มีพื้นที่ท้ายคลองที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า พื้นที่นาเกือบ 60 ไร่น้ำแทบไม่เพียงพอในการทำนายังนับว่าโชคดีที่ข้าวสุกทันก่อนที่จะเสียหาย หากทำนาช้ากว่านี้ 7 วัน นาข้าวอาจจะยืนต้นตายเพราะว่าไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวในนา จะเกี่ยวข้าวในอีก 1-2 วันที่จะถึงนี้แต่ยังมีเพื่อนบ้านหลายคนที่นาข้าวได้รับความเสียหายจากน้ำน้อย

          ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในคลองชลประทานมีเพียงพอ แต่ช่วงหลัง มีบ่อเลี้ยงปลา,เลี้ยงกุ้งในพื้นที่จำนวนมาก จนน้ำไม่เพียงพอ มีปัญหาแย่งน้ำระหว่างบ่อปลา-บ่อกุ้ง ที่ สูบน้ำเข้าบ่อที่อ้างน้ำไม่เพียงพอ ไม่ยอมปล่อยน้ำ – แบ่งปันให้เกษตรกรชาวนาข้าว

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!