ปทุมธานี-สอศ.จัดมหกรรมมิติใหม่อาชีวศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ปทุมธานี-สอศ.จัดมหกรรมมิติใหม่อาชีวศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ภาพ/ข่าว:อนันต์ วิจิตรประชา

 สอศ.จัดมหกรรมมิติใหม่อาชีวศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อาชีวะ ฝีมือชน คนสร้างชาติ

          เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 6 มีนาคม 2562 ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาปทุมธานี ตำบลบางพูด อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานเปิดงาน มหกรรมมิติใหม่อาชีวศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อาชีวะ ฝีมือชน คนสร้างชาติ และเปิดระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลกำลังคนอาชีวศึกษา (Big Data System) ของศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาอย่างเป็นทางการ โดยมี ดร.สุเทพ ชินยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) ปลัด ศธ. เลขาธิการสภาการศึกษา ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ผู้บริหารสถาบันอาชีวศึกษารัฐและเอกชน ผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) สถานประกอบการ นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมงานจำนวนมาก

            พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 1 ปีเศษจากข้อสั่งการของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2560 ที่มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการผลิตพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับเขตพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จึงนำมาสู่การจัดทำแผนงานที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการจัดตั้งศูนย์ผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาขึ้น แบ่งเป็น 1 ศูนย์กลาง 6 ศูนย์ภูมิภาค 18 ศูนย์กลุ่มจังหวัด เพื่อรวบรวมข้อมูลความต้องการกำลังแรงงานของสถานประกอบการทั่วประเทศ มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลกำลังคนอาชีวศึกษา เชื่อมโยงข้อมูลจากศูนย์ดังกล่าว ล่าสุดข้อมูล ณ เดือน ก.พ. มีภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจและบริการ สถานประกอบการชั้นนำเข้าลงทะเบียนในระบบฐานข้อมูลดังกล่าวแล้ว 129,341 บริษัท คิดเป็น 100% ของสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีตัวเลขความต้องการกำลังคนกว่า 300,000 อัตรา ในระยะเวลา 1-3 ปีนี้
การจักงานมหกรรมฯครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน อย่างแท้จริง สามารถเปิดระบบฐานข้อมูลให้ใช้ได้อย่างเป็นทางการ ซึ่งการเปิดระบบข้อมูลดังกล่าวจะทำให้ทราบถึงความต้องการกำลังคน รวมไปถึงแนวโน้มในอนาคตที่ประเทศต้องจัดหากำลังคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม สอดคล้องกับภาคเศรษฐกิจ ยังได้รวมผู้มีความเชี่ยวชาญในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ สู่การเป็นครูพิเศษสอนให้ผู้เรียนอาชีวศึกษา ซึ่งก็จะนำไปสู่การผลิตและพัฒนาการจัดการเรียน การสอน และการจัดหลักสูตรต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการอย่างแท้จริงของประเทศ และมีประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาอาชีวศึกษา ทั้งด้านการเรียนการสอน รวมถึงการวางแผนรับนักเรียนอาชีวศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าเด็กสนใจเรียนอาชีวะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปีการศึกษา 2560 สัดส่วนผู้เรียนอยู่ที่ 36% ปีการศึกษา 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 40% และคาดว่าปีการศึกษา 2562 จะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 45% ซึ่งผมได้กำชับว่าข้อมูลต่าง ๆ จะต้องพร้อมที่สุดก่อนเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2562 ในเดือน พ.ค.นี้

             เบื้องต้นกำหนดกลุ่มเป้าหมายการใช้ประโยชน์ของฐานข้อมูลอาชีวศึกษา 6 กลุ่ม คือ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) ,อาชีวศึกษาจังหวัด 77 จังหวัด ,ศึกษาธิการภาค,ศึกษาธิการจังหวัด,สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จังหวัด

              ด้าน ดร.สุเทพ ชินยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การจัดงาน มหกรรมมิติใหม่อาชีวศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อาชีวะ ฝีมือชน คนสร้างชาติ และเปิดระบบ Big Data อย่างเป็นทางการ ในการจัดการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เป็นความก้าวหน้าการดำเนินงานการอาชีวศึกษาของประเทศ ที่มีการรวมฐานข้อมูลความต้องการของสถานประกอบการและสถานศึกษา ที่ผู้ปกครอง ผู้เรียน สามารถเข้าไปดูได้ และภายในงานฯ มีการจัดนิทรรศการสิ่งประดิษฐนวัตกรรมาชีวศึกษารางวัลระดับนานาชาติ และ สอศ.ร่วมกับกรมจัดหางาน และสถานประกอบการภาคธุรกิจและบริการ กว่า 200 แห่ง ซึ่งมีอัตราว่างงานที่ต้องการกำลังคนกว่า 10,000 อัตรา.

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!