นครปฐม-25 ปี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

นครปฐม-25 ปี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ภาพ/ข่าว:อริย์ธัช พรอัศวโยธิน
ขอบคุณข้อมูล:ฐิติรัตน์ เดชพรหม

     21 กันยายน 2562 นี้ จะเป็นวันสถาปนาวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ครบรอบ 25 ปี จากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ผลิตนักดนตรีคุณภาพที่มากด้วยความคิดสร้างสรรค์และความสามารถไปประดับวงการ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และนำกิจกรรมดนตรีที่ดีมีคุณภาพสู่สังคมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เบน ชลาทิศ, พัดชา อเนกอายุวัฒน์,  เก่ง-ธชย ประทุมวรรณ, ณัฐรุจา ชุติวรรณโสภณ (แก้ว BNK48) หรือ บุตรศรัณย์ ทองชิว (น้ำตาล) ฯลฯ
     วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2537 เป็นวิทยาลัยดนตรีมีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่งในกำกับของมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดสอนวิชาเกี่ยวกับดนตรีโดยเฉพาะ ตั้งแต่ระดับเตรียมอุดมดนตรี (ม.4 – ม.6) จนถึงระดับปริญญาเอก โดยเป็นสถาบันเดียวในประเทศที่เปิดสอนวิชาดนตรีในระดับปริญญาเอก มีอาจารย์ที่ชำนาญในเครื่องดนตรีแต่ละชนิดโดยเฉพาะ เป็นสถาบันเดียวในประเทศที่เปิดสอนทั้งด้านแนวเพลงไทย และแนวเพลงสากล เป็นวิทยาลัยชั้นนำด้านดนตรีของประเทศ ซึ่งเป็นที่หมายของเยาวชนที่มีความฝันในการประกอบอาชีพในเส้นทางสายดนตรี หลายคนรู้จักดีจากภาพยนตร์ Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย” ของ GTH ซึ่งออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยบอกเล่าถึงเรื่องราวและชีวิตของการเป็นนักเรียนวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีเพลง “ฤดูที่แตกต่าง” ที่ขับร้องโดย นภ พรชำนิ เป็นแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้
    ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า ตนมาดำรงตำแหน่งคณบดี สืบต่อจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้ก่อตั้งวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2560 การที่มารับงานต่อจากอาจารย์สุกรีเป็นเรื่องยากมาก เพราะว่าท่านได้ทุ่มเททั้งชีวิตในการสร้างงานที่นี่ขึ้นมา และอาจารย์สุกรีเป็นบุคคลที่น่าชื่นชมมาก เพราะในการที่จะสร้างวิทยาลัยให้ดีในระดับนี้ได้ ต้องใช้ passion อย่างสูงจริงๆ  สิ่งที่ตนคาดหวัง คือ จะทำอย่างไรให้วิทยาลัยสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองในระยะยาว จึงได้พยายามปรับองค์กรให้มีระบบมากขึ้น คล่องตัวมากขึ้น ซึ่งจากเดิมเราเป็นวิทยาลัยที่บริหารจัดการด้วยตัวเอง ตั้งแต่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ กฎระเบียบข้อบังคับทั้งหลายได้กลับไปอิงกับของทางมหาวิทยาลัย จึงต้องมาดูกันว่าทำอย่างไรที่เราจะปรับระเบียบพวกนั้นให้เกิดความคล่องตัวให้มากที่สุดกับวิทยาลัย โดยตนได้พยายามจะสร้างลักษณะนิสัยใหม่ให้กับองค์กร โดยส่งเสริมให้ทุกคนในองค์กรได้ปรับเปลี่ยนตัวเอง ให้มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนแผนงานที่จะทำอย่างรวดเร็ว ทันท่วงทีตลอดเวลา นอกจากนี้ ตนได้พยายาม decentralize ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เปิดโอกาสให้ได้แสดงความคิดเห็น แล้วก็รับความคิดเห็นนั้นมาปรับใช้กับองค์กร โดยหวังจะช่วยทำให้ทุกคนรักองค์กรมากขึ้น มีความผูกพันกับองค์กรมากขึ้น นอกจากนี้จะมีการดู feedback จาก stakeholder อื่นๆ มาลองปรับดูด้วยว่ามีอะไรที่จะสามารถช่วยในการปรับตัวได้ในอนาคต
      ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ เล่าต่อไปว่า เมื่อประมาณปลายปีที่ผ่านมา ตนได้มีโอกาสเข้าพบ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และได้ปรึกษาเรื่อง “กองทุนเปรมดนตรี” ว่า วิทยาลัยมีกองทุน แต่วิธีการใช้เงินในกองทุนนั้นยังไม่ค่อยชัดเจน โดยวิทยาลัย จะเอามาทำเป็นกองทุนที่อยู่กับวิทยาลัยไปเรื่อยๆ โดยไม่สามารถถอนเงินต้นออกมาได้ จะมีการใช้เพียงดอกผลของกองทุนเท่านั้นในการนำมาจ่ายเป็นทุนการศึกษาให้กับนักเรียนนักศึกษา ไม่ทราบว่าท่านมีความคิดเห็นว่าอย่างไร ซึ่งท่านได้อนุมัติให้ดำเนินการ เราจึงได้มีเอกสารที่เป็นจุดเริ่มต้นในการจัดตั้ง “กองทุนเปรมดนตรี” ขึ้นมา ตอนนี้เหลือเพียงขั้นตอนสุดท้ายคือการผ่านสภามหาวิทยาลัย แล้วกองทุนนี้ก็จะมีความสมบูรณ์ โดยในอนาคตเราอาจจะนำเงินไปลงทุนในแพคเกจที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้นมาเพื่อให้ได้ดอกผลที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยทำให้เรามีเงินกลับมาเป็นทุนการศึกษาของนักเรียนนักศึกษาได้มากขึ้น และในโอกาสครบรอบ 25 ปีวิทยาลัย จะมีการจัดคอนเสิร์ตเพื่อเป็นการ fund raising เข้ากองทุนดังกล่าวด้วย
     “การเดินทาง 25 ปีของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นการเดินทางที่เจริญเติบโตงอกงามได้อย่างรวดเร็วมาก ตอนนี้เราก็พยายามดูแลต้นไม้ที่กำลังโตไว ให้มีรากที่แข็งแรงสมบูรณ์มากขึ้น ไม่มีอะไรที่จะมีคุณค่าไปกว่าการร่วมแรงร่วมใจกันของชาววิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน มาร่วมฉลองครบรอบ 25 ปี มาร่วมแสดงพลังให้สังคมเห็นว่าเรารวมตัวกันอย่างมีพลังมากเท่าใด แล้วก็พลังที่เรามีจะเป็นพลังที่ไปช่วยส่งเสริมให้สังคมมีคุณภาพที่ดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งตนคิดว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนกำลังจับตามอง เราเป็นนักดนตรี เราควรจะต้องรับใช้สังคมด้วยเสียงดนตรี เพราะฉะนั้นทำอย่างไรที่เราจะใช้เสียงดนตรีเพื่อให้สังคมมีสุขภาวะที่ดีขึ้น” ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ กล่าวทิ้งท้าย
    เตรียมพบกับกิจกรรมดีๆ มากมาย ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี จากศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ในเดือนกันยายน 2562 นี้ ติดตามได้ที่ FB: College of Music, Mahidol University

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!