นครปฐม-คณะ ICT มหิดล พัฒนาซอฟต์แวร์ฝึกทำฟันเสมือนจริง

นครปฐม-คณะ ICT มหิดล พัฒนาซอฟต์แวร์ฝึกทำฟันเสมือนจริง

ภาพ/ข่าว:อริย์ธัช พรอัศวโยธิน
ขอบคุณข้อมูล:ฐิติรัตน์ เดชพรหม 

คณะ ICT มหิดล พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับนศ.ทันตแพทย์ฝึกทำฟันเสมือนจริง

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมจัดแสดง “เครื่องซิมูเลเตอร์เพื่อการฝึกทำฟันในสภาพแวดล้อมเสมือนจริงสำหรับนักศึกษาทันตแพทย์” ในงาน Mahidol R-I-SE NOW” Research & Innovation Special Exhibition ซึ่ง สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ร่วมกับ กองบริหารงานวิจัย และกองกิจการนักศึกษา จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีวันพระราชทานนาม และ 131 ปีมหาวิทยาลัยมหิดล ณ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
      Professor Dr.Peter Haddawy รองคณบดีฝ่ายพัฒนางานวิจัย คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้กับเครื่องซิมูเลเตอร์เพื่อการฝึกทำฟันในสภาพแวดล้อมเสมือนจริงสำหรับนักศึกษาทันตแพทย์ โดยเครื่องซิมูเลเตอร์ที่นำมาใช้กับซอฟต์แวร์ ประกอบด้วยอุปกรณ์แฮปติกส์ (Haptic devices) แว่นสามมิติ (HTC vive) และเครื่องคอมพิวเตอร์แบบเวิร์คสเตชัน ซึ่งหาได้ไม่ยาก โดยได้รับทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ Hanse-Wissenschaftskolleg Institute for Advanced Study (HWK) ประเทศเยอรมนี ภายใต้ชื่อโครงการ Intelligent Virtual Environments for Surgical Training”ซึ่งซอฟต์แวร์ดังกล่าวจะสร้างภาพสามมิติให้ดูเหมือนว่าผู้เรียนกำลังอยู่ในห้องทำฟันกับผู้ป่วย และมีภาพจำลองที่สแกนจากฟันจริงของผู้ป่วย ซึ่งเมื่อผู้เรียนสวมแว่นสามมิติ (HTC vive) จะเห็นมือตัวเองกำลังถือกระจกส่องฟัน และเครื่องกรอฟันในภาพเสมือนจริง โดยอุปกรณ์แฮปติกส์จะทำให้เกิดความรู้สึกตอบสนองต่อผู้เรียนเหมือนกำลังใช้มือกรอฟันให้กับผู้ป่วยจริง
      Professor Dr.Peter Haddawy กล่าวว่า “ประโยชน์ของการใช้ซอฟต์แวร์นี้ จะทำให้นักศึกษาทันตแพทย์สามารถฝึกปฏิบัติได้โดยไม่เป็นการเสี่ยงต่อผู้ป่วย นอกจากนี้ยังดีกว่าการฝึกกับฟันพลาสติกในรูปแบบเดิม ซึ่งใช้กันอยู่สองแบบ โดยแบบแรกมีข้อจำกัดเนื่องจากมีโครงสร้างภายในไม่เหมือนกับฟันจริง เพราะไม่มีองค์ประกอบของรากฟัน จึงไม่สามารถใช้ในการฝึกรักษารากฟัน (Endodontics) ได้”
ส่วนอีกแบบที่มีราคาแพงกว่าจะมีโครงสร้างภายในคล้ายกับฟันจริง แต่มีข้อจำกัดคือสามารถใช้ได้ครั้งเดียว หากผู้เรียนทำผิดขั้นตอนจะไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ ต้องเริ่มต้นทำใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนแรกโดยใช้ฟันพลาสติกอันใหม่ ซึ่งการใช้เครื่องซิมูเลเตอร์นี้ผู้เรียนสามารถย้อนกลับไปแก้ไขเฉพาะขั้นตอนที่ทำพลาด และฝึกทำซ้ำได้ตามที่ต้องการ
ที่คณะ ICT มหิดลได้มีการฝึกให้นักศึกษาปริญญาเอกได้ใช้เครื่องซิมูเลเตอร์ที่ใช้ซอฟต์แวร์ดังกล่าว เช่นเดียวกับนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ทุกคนจะได้แบ่งกลุ่มฝึกทำเป็น senior project
“เราพัฒนาระบบซอฟต์แวร์นี้ขึ้นโดยทำวิจัยร่วมกับศัลยแพทย์ทางทันตกรรมอย่างใกล้ชิด และได้นำมาทดลองทางคลินิกกับกลุ่มนักศึกษาทันตแพทย์ โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งฝึกกับฟันพลาสติกในรูปแบบเดิม ส่วนอีกกลุ่มฝึกกับเครื่องซิมูเลเตอร์ที่ใช้ซอฟต์แวร์ของเรา เพื่อเปรียบเทียบประเมินผลขั้นสุดท้ายว่าระบบทำงานได้ดีเพียงใด โดยจะได้มีการขยายผลเพื่อประยุกต์ใช้ในการฝึกผ่าตัดกระดูก (Orthopedic Surgery) และการผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Surgery) ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์ที่มีการออกแบบเฉพาะต่อไป
“นอกจากนี้เรากำลังร่วมกับ University of Bremen ประเทศเยอรมนี พัฒนาซอฟต์แวร์ที่สามารถอธิบายขั้นตอนการผ่าตัดได้อย่างละเอียดด้วยภาษาที่ผู้เรียนเข้าใจได้ง่าย และจะออกแบบให้ระบบเหมือนกับผู้สอนกำลังพูดกับผู้เรียน และจะมีการสอนให้ผู้เรียนได้ฝึกการตัดสินใจ ตลอดจนมีการพัฒนาขั้นตอนกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยต่อไป” Professor Dr.Peter Haddawy กล่าว

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!