ตาก-พช.จับมือหลายองค์กรร่วมประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือการสืบสานศาสตร์พระราชา

ตาก-พช.จับมือหลายองค์กรร่วมประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือการสืบสานศาสตร์พระราชา

ภาพ/ข่าว:คัคเนศวร์ พรอัศวโยธิน

           พช.จับมือหลายองค์กรร่วมประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือการสืบสานศาสตร์พระราชาของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก

           เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย ร่วมงาน “พลังงานสรรค์สร้างพลังแผ่นดิน เพื่อการฟื้นฟูโลก (Energy Drive Ecosystem)” พร้อมแสดงเจตนารมณ์ความร่วมมือการศึกษาศาสตร์พระราชาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก ระหว่าง 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมการพัฒนาชุมชน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ Earth Safe Foundation ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กระทรวงพลังงาน โดยมี นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล กรรมการผู้ช่วย รมว.พลังงาน เป็นประธานในพิธี ณ บริเวณเขื่อนภูมิพล จ.ตาก
             ทั้งนี้ ในช่วงเช้ามีการแสดงพลังแห่งความร่วมมือจากทุกภาค ทุกเครือข่ายด้วยกิจกรรมโบกธงแสดงเจตนารมณ์สืบสานศาสตร์พระราชาเนื่องในวันดินโลก ซึ่งการจัดงานครั้งนี้จัดภายใต้กรอบระยะเวลา 3 ปี เป็นการแสดงถึงความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานหลายภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงาน ที่มุ่งแก้ปัญหาใน 3 ประเด็นหลัก คือ น้ำ อาหาร และพลังงาน เพื่อสร้างความมั่นคงตามเป้าหมายความยั่งยืนโลก (SDGs)
             จากนั้น มีการเสวนาในหัวข้อ “เป้าหมายโลกคือเป้าหมายเราด้วยศาสตร์พระราชา” โดยผู้ทรงคุณวุฒิจาก 4 ภาคีเครือข่ายได้แก่ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รองอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าฯกฟผ. ได้บรรยายถึงความสำคัญพร้อมผลักดันประชาชนให้ร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาชุมชนสู่เป้าหมายความยั่งยืนระดับโลก
             นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การขยายความร่วมมือในทุกภาคีเครือข่าย โดยการน้อมนำศาสตร์พระราชา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดยการบูรณาการแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนบริหารจัดการพื้นที่แบบโคกหนองนาโมเดล เพื่อพัฒนาน้ำ อาหาร และพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์และเป็นการใช้พื้นที่ของชุมชนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
             อย่างไรก็ตาม มีการเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นและประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็งต่อไป โดยการจัดงานดังกล่าว นับเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหลายภาคส่วนทั้งชุมชนและหน่วยงานราชการภาคเอกชน
              อธิบดีพช. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของกรมการพัฒนาชุมชน ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการทำงาน “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้ภายในปี 2565” โดยการขับเคลื่อนงานสู่วิสัยทัศน์ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทาง
              สำหรับ ในปีงบประมาณ 2563 ได้ดำเนินการ 2 โครงการหลัก คือ โครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนท้องถิ่นตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 74,655 หมู่บ้าน มุ่งเน้นหน่วยสำคัญที่สุดคือ ระดับครัวเรือน มีการส่งเสริมให้ครัวเรือนสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน และสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม โดยมี กิจกรรมย่อย อาทิ กิจกรรมหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมหมู่บ้านโครงการบ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง กิจกรรมหมู่บ้านสัมมาชีพชุมชน กิจกรรมพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย ซึ่งต้องทำทันที โดยหวัง 70% ของครัวเรือน จะปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ มีไข่อารมณ์ดี มีการจัดการคัดแยกขยะ มีการทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น
                นอกจากนี้ กรมฯ ยังสร้างและพัฒนา “ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชาน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่วิถีชีวิต” ด้วยการยกระดับศูนย์บ่มเพาะอาชีพตามแนวคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้อาชีพ แก่ข้าราชการและประชาชนทั่วไปในพื้นที่ของกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 18 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ และอยากเห็นคนที่จะเป็นผู้นำหัวไวใจกล้าพัฒนา ทำพื้นที่ให้เหมือนอย่าง เช่น โคก หนอง นา โมเดลในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งจะสำเร็จได้ง่ายเพราะมีภาคีร่วมขับเคลื่อน

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!